คุยกับโฟล์ก Multimedia Designer ผู้ไม่เคยหยุดนิ่งในการพัฒนาทักษะใหม่ๆ

คุยกับโฟล์ก Multimedia Designer ผู้ไม่เคยหยุดนิ่งในการพัฒนาทักษะใหม่ๆ
04/08/22   |   5.3k

สายงาน Creative โดยเฉพาะงานด้าน Multimedia Design นั้นเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่สำคัญต่อการนำเสนอภาพลักษณ์และการสื่อสารขององค์กรธุรกิจผ่านการออกแบบชิ้นงาน Artwork หรือ สื่อที่มองเห็นได้ด้วยตา หัวใจสำคัญของกระบวนการให้ได้มาซึ่ง Design ที่สะท้อนตัวตนของ Brand ของธุรกิจ หรือ การเป็นที่จดจำหรือดึงดูดลูกค้าจึงเป็นความท้าทายของสายอาชีพนี้ เรียกได้ว่าผลงานจะปังหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าจะคิดไอเดียสร้างสรรค์และออกแบบให้ลูกค้าเห็นแล้วประทับใจได้ขนาดไหน

 

คนที่สนใจจะทำงานเป็น Multimedia Designer คงมีคำถามที่อยากรู้เกี่ยวกับการทำงานว่า ตำแหน่งนี้ต้องทำอะไรบ้าง มีทักษะไหนที่จำเป็น และต้องเตรียมตัวฝึกฝนก่อนเข้าสู่โลกการทำงานอย่างไรบ้าง เรามาดูกันว่าในสภาพแวดล้อมการทำงานแบบ Work from Anywhere ของ THiNKNET นั้นจะช่วยเพิ่มพลังสร้างสรรค์งานให้กับคนทำงานสาย Multimedia Design ได้อย่างไรบ้าง ผ่านการบอกเล่าของ “โฟล์ก” Multimedia Designer ของ THiNKNET ผู้มาพร้อมกับความพลังแห่งไอเดียสร้างสรรค์ที่พกมาเต็มกระเป๋า

 

แนะนำตัวหน่อย ชื่ออะไร ทำงานตำแหน่งอะไร และทำมานานแค่ไหนแล้ว?

ชื่อ สิทธิพล จารุมนถิรบวร ชื่อเล่นชื่อ โฟล์ก ตำแหน่ง Multimedia Designer ทำงานกับ THiNKNET มาแล้ว 11 เดือนครับ

 

ในฐานะ Multimedia Designer ของ THiNKNET โฟล์กต้องรับผิดชอบงานอะไรบ้าง ต้องใช้ทักษะทั้ง Hard Skills และ Soft Skills อะไรบ้าง?

ต้องผลิตผลงานสื่อ Artwork หรือ Video ตามโจทย์ที่ได้รับมอบหมาย และต้องทำงานร่วมกับทีมอื่นอย่างเช่น ทีม Marketing ครับ สำหรับ Hard Skills ที่จำเป็นหลัก ๆ ก็คือทักษะความรู้ด้านศิลปะเบื้องต้นเพื่อใช้ในการออกแบบงาน เช่น การจัดองค์ประกอบภาพ หรือการใช้สี และเมื่อเราได้รับมอบหมายงานมา เราก็ต้องทำความเข้าใจและตีโจทย์งาน เปลี่ยนจากไอเดียให้กลายเป็น Artwork ที่สอดคล้องกับหัวข้อที่เราได้รับ Brief มาครับ นอกจากนี้ก็ต้องมีความรู้ด้านโปรแกรมเพื่อใช้ในการออกแบบครับ ส่วน Soft Skills ก็น่าจะเป็นทักษะการประสานงาน และการทำงานร่วมกันเป็นทีมซึ่งสำคัญมากเวลาที่ต้องประชุมกับทีมของเราเอง หรือ การคุยงานต่าง ๆ กับทีมอื่น ๆ ครับ 

 

โฟล์กมีโอกาสในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานอย่างไรบ้าง ลองยกตัวอย่างกระบวนการทำงานให้ฟังหน่อย?

เนื่องจากตำแหน่ง Multimedia Designer เป็นงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์อยู่แล้ว ทุกงาน ทุกขั้นตอนจึงจำเป็นต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน หลังจากคิดไอเดียได้แล้ว ก็จะมีขั้นตอนตามมาคือ การนำเสนอไอเดียกับเพื่อนร่วมทีมและมีการ Feedback กันในทีมเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ในการทำงานที่ดีที่สุด อย่างงานที่ผมภูมิใจว่าได้ใส่ไอเดียสร้างสรรค์เต็มที่คือ การทำรูปโปรโมตงานจัดแสดงสินค้า Home Mega Show และโฆษณาตัวสินค้าของ THiNKNET Design Studio ที่จะนำไปขายในงานครับ ผมก็ลองเลือกสินค้าที่เป็นแผนที่โลกมา จินตนาการว่าเราใช้สินค้านี้เพื่อตกแต่งห้องของเรายังไงได้บ้าง แล้วก็ใส่องค์ประกอบพวกป้ายร้านค้า และเฟอร์นิเจอร์เพิ่มเติมให้เหมือนกับการตกแต่งห้องจริง ๆ จนลงตัวออกมาเป็น Artwork ที่สมบูรณ์ครับ ระหว่างที่ทำงานนี้ไปก็ได้เรียนรู้และพัฒนาสไตล์การทำงานของเราให้ชัดเจนขึ้นด้วยครับ

 

โฟล์กเจออุปสรรคในการทำงานอะไรบ้าง และมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร?

ต้องเกริ่นก่อนว่าผมจบคณะบริหาร สาขาการตลาดมาครับ แต่เปลี่ยนสายงานมาทำงานด้านนี้ เพราะว่าตอนสมัยเรียนมหาวิทยาลัยได้ลงเรียนวิชาหนึ่งที่ได้ใช้โปรแกรม Photoshop แล้วผมชอบครับ  ด้วยความที่ผมไม่ได้เรียนจบด้านศิลปะมาโดยตรง เลยมีปัญหาเรื่อง Skill Gap ทำให้มีทักษะหลายอย่างที่ผมต้องพัฒนา เทคนิคการเรียนรู้ของผมคือ เรื่องไหนที่เราไม่รู้ก็จะขอคำแนะนำจากพี่ ๆ และเพื่อน ๆ ในทีม ซึ่งทุกคนก็พร้อมช่วยสอนตลอดครับ หรือ ถ้าบางเรื่องผมอยากศึกษาเพิ่มเติมเอง ก็จะหาความรู้เพิ่มเติมนอกเวลาทำงานครับ

 

โฟล์กได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการเปลี่ยนสายงาน หรือการทำงานไม่ตรงกับสิ่งที่เรียนมา ต้องปรับตัวมากไหม?

ช่วงแรก ๆ ก็จะยากหน่อยครับ ต้องใช้เวลาสักพักใหญ่ หลังเรียนจบผมก็เริ่มหาความรู้ในการทำงานสาย Design ด้วยตัวเองครับ และฝึกฝนทักษะด้วยการรับงาน Freelance เรื่อย ๆ จนเก็บเป็น Portfolio ที่แสดงให้เห็นสไตล์ของเราที่ชัดเจนขึ้นครับ ในขณะเดียวกันผมก็ได้ใช้ความรู้สาขาที่จบมาในการตีโจทย์งานครับ ต้องคิดว่าทำยังไงให้ลูกค้าสนใจกับสิ่งที่เราจะสื่อออกไปเป็นรูปภาพ หรือรูปที่เรากำลังออกแบบจะส่งผลอะไรหลังจากที่ได้โพสต์ลงไปแล้ว เช่น โพสต์เพื่อสร้าง Brand Awareness เราก็ต้องตีโจทย์ตามสิ่งที่เราอยากให้เป็น ถึงจะดูยาก แต่ถ้าชอบงานสาย Design จริงๆ ผมว่ายังไงก็เปลี่ยนสายงานได้ครับ ขอแค่ตั้งใจ

 

 

 

โฟล์กมีเทคนิคในการพัฒนาตัวเองเพื่อการทำงานยังไงบ้าง?

พอได้มาทำงานกับ THiNKNET ก็ได้พัฒนาทักษะในการทำงานจากการสอนภายในทีมที่มีการจัดคอร์สเรียนจากพี่ ๆ ในช่วงที่กำลังฝึกใช้โปรแกรมต่าง ๆที่จำเป็น ผมก็ลองเรียนเพิ่มเติมด้วยตัวเองในเรื่องที่เราสนใจจากการดูวิดีโอใน Youtube เลยครับ คนทำงานยุคนี้ Up-Skill ใหม่ ๆ ได้เองจากที่บ้าน สมัยนี้อยากเรียนอะไรมีสอนทุกขั้นตอนอย่างละเอียดเลย

 

ทักษะที่ได้จากการทำงานที่เอาไปต่อยอดให้กับตัวเองได้ มีอะไรบ้าง?

นอกเหนือจากทักษะการออกแบบ และการจัดองค์ประกอบทางศิลปะที่ได้รับจากการทำงานแล้ว ผมคิดว่า Soft Skills อย่างการเรียนรู้วิธีการหรือกระบวนการคิดงาน การทำงานที่เป็นระบบ หรือทักษะการทำงานร่วมกับคนอื่น ๆ เป็นทักษะที่สำคัญไม่แพ้ทักษะการทำงานหลักเลยครับ น่าจะเป็นประโยชน์ในอนาคตแน่นอนครับ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม

 

ถ้าจะให้นิยามการทำงานที่ THiNKNET จะนิยามว่ายังไงดี?

สั้น ๆ เลยครับ “ทำงานให้มีความสุข ทำงานที่ไหนก็ได้”

 

ช่วยเล่า Moment หรือประสบการณ์การทำงานที่ประทับใจให้ฟังหน่อย?

เพื่อน ๆ พี่ ๆ ในทีมค่อยช่วยและสนับสนุนผมอยู่ตลอด รับฟังปัญหาภายในทีมและทำการแก้ไข สิ่งที่ผมชอบที่เพื่อน ๆ พี่ ๆ ในทีมชอบพูด คือ ทำงานให้มีความสุข

 

พอได้ทำงานจริงกับที่ THiNKNET รู้สึกยังไงบ้าง เหมือนที่เคยคิดไว้ไหม หรือต่างจากที่จินตนาการไว้ยังไง?

ต่างจากที่จินตนาการไว้เยอะเหมือนกันครับ ได้ลองทำสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำหลายอย่างเลยครับ ได้เปลี่ยนจากตำแหน่งในทีม Graphic Design มาเป็นทีม Multimedia Design ได้ลองทำงานรอบด้านทั้งการออกแบบ Vector สร้าง Motion Graphic  ทำ Video เพื่อรองรับกับความต้องการของลูกค้าของเรา ทำให้ผมได้พัฒนาตัวเอง ได้เรียนรู้เยอะมาก และที่สำคัญได้เจอเพื่อนร่วมทีมที่ดีที่ช่วยสนับสนุนการทำงานของเราครับ

 

คิดว่าการ WFA มีประโยชน์ยังไงบ้าง ทำให้ตารางชีวิตเปลี่ยนไปไหม?

รู้สึกชอบ WFA เพราะว่าทำให้เรามีเวลาในการใช้ชีวิตมากขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทางเข้าออฟฟิศ หลังเลิกงานก็มีเวลาเหลือไปทำกิจกรรมที่ทำให้เรามี Work-Life Balance เช่น การออกกำลังกาย มีเวลาดูหนัง เล่นเกมเพื่อผ่อนคลาย เติมเต็มให้ชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวของเรามีความสุขไปพร้อม ๆ กันได้ครับ

 

จากที่เคยทำงานที่ออฟฟิศมา พอได้ทำงานแบบ WFA รู้สึกอย่างไรบ้าง มีความยากหรือท้าทายกว่าเดิมไหม ต้องปรับตัวยังไงบ้าง?

พอเปลี่ยนมาเป็น WFA เราต้องมีระเบียบในการทำงาน ต้องตรงต่อเวลา แต่สำหรับผมไม่รู้สึกว่าต้องปรับตัวจากเดิมที่เคยเข้าออฟฟิศครับ

 

รู้สึกยังไงกับคำกล่าวที่ว่า “สิ่งแวดล้อมและบรรยากาศของการทำงานมีผลต่อความคิดสร้างสรรค์” ?

รู้สึกว่าบรรยากาศในการทำงานสำคัญมากครับ โดยเฉพาะพอ THiNKNET เปิดโอกาสให้ทำงานแบบ WFA และ Hybrid ยิ่งทำให้เราได้ทำงานในแบบที่เป็นตัวเอง เราสามารถมีทางเลือกที่หลากหลายในการทำงาน วันนี้อาจจะเข้าออฟฟิศ อีกวันอาจจะทำงานที่บ้าน เมื่อมีบรรยากาศในการทำงานที่เหมาะสม เราก็จะมีสมาธิในการทำงานมากขึ้น เช่น เวลาทำงานผมจะเปิดดู Twitch.tv  ฟังเพลง หรือ Podcast คลอไปด้วย ไม่ให้ห้องทำงานเงียบเกินไปครับ สำหรับผมวิธีนี้จะทำให้ผ่อนคลายระหว่างการทำงานมากขึ้นครับ สามารถโฟกัสกับงานได้ดีมากขึ้น หรือถ้าคิดงานไม่ออก ก็ลองเปลี่ยนสถานที่ทำงานดูบ้าง คำว่า Anywhere หรือ ทำงานที่ไหนก็ได้ ก็คือความยืดหยุ่นในการทำงาน การที่เราได้รับโอกาสในการเปลี่ยนบรรยากาศไปทำงานในที่ที่แตกต่าง ไม่ยึดติดกับสถานที่เดิม ๆ บางครั้งก็จะทำให้เราจุดประกายไอเดีย คิดอะไรใหม่ ๆ ออกมาได้ครับ

 

การเรียนรู้งานในช่วง WFA เป็นยังไงบ้าง ภายในทีมดูแลสอนงานให้โฟล์กยังไงบ้าง?

ภายในทีมดูแลกันได้ดี ถึงจะเป็นการทำงานแบบ WFA โดยใช้การประชุมกับการสอนงาน ผ่านโปรแกรม Zoom ถ้ามีปัญหาตรงไหนสามารถทักหาหรือโทรสอบถามได้ตลอด ทำให้การ WFA ไม่เป็นปัญหากับการทำงานเลยครับ

 

การ WFA มีผลต่อความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานทั้งในและนอกแผนกอย่างไรบ้าง มีกิจกรรมที่ทำให้รู้จักกับเพื่อนร่วมงานมากขึ้นไหม?

การทำงานแบบ WFA อาจจะทำให้เรามีโอกาสพูดคุยกับแค่คนในทีมกับแผนกที่ต้องทำงานด้วยและส่วนใหญ่จะคุยกันแค่เรื่องงาน ทำให้ความสัมพันธ์จะพัฒนาช้ากว่าการทำงานออฟฟิศครับ แต่ก็จะมีกิจกรรมเล่าเรื่องราว หรือ แชร์ประสบการณ์ทุกเช้าหลังจากประชุมทีมเสร็จ ทำให้รู้จัก แต่ละคนในทีมมากขึ้น นอกจากนี้ก็จะมีการจัดสัมมนาของบริษัทแบบออนไลน์ซึ่งทำให้เรารู้จักเพื่อนร่วมงานในแผนกอื่นด้วยครับ

 

นโยบาย WFA มีผลต่อสวัสดิการบริษัทมอบให้ หรือกิจกรรมที่บริษัทจัดให้ หรือไม่ และคิดว่าสิ่งที่ได้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในปัจจุบันไหม?

การ WFA อาจจะทำให้กิจกรรมที่บริษัทเคยจัดในรูปแบบเดิม ๆ เปลี่ยนแปลงไป เช่น อาจจะไม่มีการ Outing ทำกิจกรรมนอกสถานที่พร้อม ๆ กัน หรือ เราอาจจะไม่ได้มีโอกาสเจอหน้ากับเพื่อนร่วมงานบ่อยเหมือนกับการทำงานในออฟฟิศตลอดเวลาแบบเดิม แต่ผมก็มองว่าการ WFA ทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้น มีสมาธิในการทำงานมากขึ้นเพราะสามารถเลือกบรรยากาศและสถานที่ทำงานในแบบของตัวเองได้  และตอบโจทย์การใช้ชีวิตมากกว่าการทำงานที่ออฟฟิศ เช่น ตัดปัญหาเรื่องรถติด ประหยัดค่าเดินทาง และยังทำให้เรามีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น เกิด  Work-Life Balance อย่างแท้จริงครับ

 

 

จากการพูดคุยกับโฟล์ก ทำให้เราเห็นว่าการทำงานในตำแหน่ง Multimedia Designer ที่ THiNKNET ในบรรยากาศการทำงานแบบ Work from Anywhere นั้นสนุกขนาดไหน ที่สำคัญเราไม่จำเป็นต้องจบตรงสายก็สามารถทำตำแหน่งนี้ได้ ถ้าใจรัก รู้จักเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ 

ตอนนี้ THiNKNET ของเราก็กำลังมองหาคนทำงานสาย Design มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการออกไอเดียสุด Creative ใครที่สนใจอยากทำงานสายกราฟิกสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่นี่ หรือถ้าอยากดูตำแหน่งงานอื่น ๆ ก็สามารถกดเข้าไปดูได้ที่นี่

tags : multimedia designer work from anywhere thinknet work from home hybrid working how we work wfa life at thinknet ทำงานที่ไหนก็ได้



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email