เรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านอารยธรรมโลกโบราณ

เรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านอารยธรรมโลกโบราณ
30/06/22   |   69.3k

“อารยธรรม” ตามความหมายทางภาษาคือความสงบสุขของสังคมที่ตั้งอยู่บนรากฐานแห่งศีลธรรมและกฎหมาย หรือความเจริญด้วยขนบธรรมเนียมอันดี ภาษาอังกฤษคือ “Civilization” สันนิษฐานว่ามีความเกี่ยวโยงกับคำว่า Civis และ Civitas ในภาษาละติน โดย Civis หมายถึงประชาชน และ Civitas หมายถึงเมือง จึงอนุมานได้ว่า Civilization นั้นประกอบด้วยส่วนสำคัญคือผู้คนซึ่งรวมตัวกันจนเกิดเป็นสังคมเมือง 

 

อารยธรรมโลกโบราณเกิดขึ้นได้อย่างไร? 

จุดเริ่มต้นของอารยธรรมมนุษย์เกิดขึ้นเมื่อมนุษย์เริ่มเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันเป็นหลักแหล่ง พึ่งพาอาศัยกันเพื่อความอยู่รอด จากกลุ่มคนขยายตัวเป็นเมือง เกิดการสร้างทักษะ แลกเปลี่ยนความรู้ สร้างข้อตกลงเพื่อวางรากฐานกฎเกณฑ์ จนเกิดเป็นระบบสังคมที่ซับซ้อน มีแบบแผนของขนบธรรมเนียมและประเพณี มีความเจริญก้าวหน้าในหลายด้าน เมล็ดพันธุ์แห่งอารยธรรมก็งอกงามขึ้นจากจุดนั้นเอง 

 

อารยธรรมโบราณสำคัญของโลก 

เมื่อสังคมเริ่มขยายใหญ่ขึ้น จึงเกิดการกระจายตัวของกลุ่มคนออกไปตามแต่ละภูมิภาค การโยกย้ายถิ่นฐานไปสร้างชุมชนใหม่ทำให้เกิดความหลากหลายทางสังคม ซึ่งนำไปสู่การสร้างอารยธรรมอันมีเอกลักษณ์ของตนเอง แหล่งอารยธรรมโบราณที่สำคัญของโลก ได้แก่ อารยธรรมเมโสโปเตเมีย อียิปต์โบราณ อินเดียโบราณ กรีก และจีนโบราณ ล้วนสร้างรากฐานทางภูมิปัญญาไว้อย่างแข็งแกร่ง ซึ่งส่งอิทธิพลต่อสังคมในยุคต่อมาอย่างเห็นได้ชัด 

 

อารยธรรมเมโสโปเตเมีย 3500-500 BCE

Mesopotamia

อารยธรรมเมโสโปเตเมียเป็นหนึ่งในอารยธรรมที่เก่าแก่ที่สุดของโลก มีเอกลักษณ์โดดเด่นหลายด้าน เกิดจากการผสมผสานความรู้และวิทยาการจากหลายเผ่าพันธุ์เข้าด้วยกัน คนกลุ่มแรกที่สร้างอารยธรรมเมโสโปเตเมียขึ้นคือชาวซูเมอร์ หรือสุเมเรียน ที่รวมตัวกันตั้งถิ่นฐานอยู่บนพื้นที่ระหว่างแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติส ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “เมโสโปเตเมีย” ในภาษากรีกโบราณ คือ "พื้นที่ระหว่างแม่น้ำ” ท่ามกลางภูมิประเทศอันแห้งแล้ง แม่น้ำได้พัดพาเอาตะกอนดินมาทับถมกันจนเกิดเป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการเพาะปลูกและอยู่อาศัย จนได้รับการขนานนามให้เป็น “ดินแดนพระจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์”

 

ประมวลกฎหมายฮัมมูราบีแกะสลักบนเสาหิน ขุดพบที่อิหร่านเมื่อ ค.ศ. 1901
Mesopotemia Ancient Wheel
ล้อโบราณช่วง 750 BCE สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากอารยธรรมเมโสโปเตเมีย พบที่อิรัก

 

หลักฐานความเจริญของอารยธรรมเมโสโปเตเมีย ได้แก่ การประดิษฐ์ตัวอักษรที่นักโบราณคดีเชื่อว่าเก่าแก่ที่สุดของโลกเรียกว่า “อักษรรูปลิ่ม (Cuneiform Script)” ซึ่งเป็นต้นแบบของตัวอักษรกรีกและโรมัน และอักษรภาพ (Hieroglyphics) ในเวลาต่อมา นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ เช่น การประดิษฐ์วงล้อ ซุ้มโค้ง (Arch) สำหรับรองรับโครงสร้างอาคาร การแบ่งชั่วโมงออกเป็น 60 นาที รวมไปถึงการตราประมวลกฎหมายฮัมมูราบี (Code of Hammurabi ) หนึ่งในกฎหมายที่เก่าแก่ที่สุดของโลก ซึ่งให้ความสำคัญกับสิทธิสตรีมาตั้งแต่ยุคโบราณก่อนที่โลกสมัยใหม่จะตื่นรู้กันในหลายร้อยปีต่อมา 

 

อารยธรรมอียิปต์โบราณ 3150-300 BCE

Ancient Egypt

อียิปต์โบราณ หรือไอยคุปต์ เพี้ยนเสียงมาจากภาษา Amarna ที่เรียกว่า Hikuptah (อ่านว่า ไอ-คุบ-ต้า) แปลว่า แม่น้ำไนล์ ตามตำแหน่งที่ตั้งซึ่งครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ตอนกลางจนถึงปากแม่น้ำไนล์ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกาจากสภาพของลุ่มแม่น้ำอันอุดมสมบูรณ์ และลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ล้อมรอบด้วยทะเลทรายเสมือนปราการป้องกันการรุกรานจากศัตรูภายนอก คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้อารยธรรมอียิปต์โบราณรุ่งเรืองนับพันปี 

 

Pyramids
มหาพีระมิดแห่งกิซา หนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกโบราณที่ยังเหลืออยู่ในยุคปัจจุบัน
Mummy
หีบและโลงบรรจุมัมมี่ก็มีการแบ่งลำดับตามชนชั้น
กระดาษชนิดแรกของโลกทำมาจากต้นกก (Papyrus)

 

อารยธรรมของอียิปต์โบราณสร้างมรดกมากมายหลายด้านให้แก่โลก โดดเด่นทั้งวิทยาการความรู้ และความเชื่อที่มีอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตาย ซึ่งเป็นที่มาของหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณอย่างมหาพีระมิดแห่งกิซา และการทำมัมมี่ ซึ่งชี้ให้เห็นความแตกฉานในศาสตร์แต่ละด้านอย่างลึกซึ้ง นอกจากนั้นยังผลิตกระดาษจากต้นกก (Papyrus) ขึ้นใช้แทนการจารึกอักษรลงบนแผ่นหิน ซึ่งบันทึกวิทยาการความก้าวหน้าของชาวอียิปต์โบราณไว้มากมาย ความยิ่งใหญ่เกรียงไกรของอารยธรรมอียิปต์โบราณหยั่งรากลึกและแผ่ขยายออกไป จนกลายเป็นรากฐานสำคัญของอารยธรรมตะวันตกในเวลาต่อมา

 

อารยธรรมกรีก 2000 BCE-146 CE

Greek

อารยธรรมกรีกมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเอเธนส์ (Athens) เมืองหลวงของประเทศกรีซในปัจจุบัน เป็นอารยธรรมโลกตะวันตกที่เจริญรุ่งเรืองมาก ปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้อารยธรรมกรีกเฟื่องฟูคือที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ซึ่งอยู่บริเวณตอนใต้ของคาบสมุทรบอลข่านและชายฝั่งทะเลอีเจียน ในเขตทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ใกล้ชิดกับอารยธรรมสำคัญของโลกอย่างอียิปต์โบราณ และเมโสโปเตเมีย  ทำให้ได้แลกเปลี่ยนความเจริญด้านต่าง ๆ ระหว่างกัน

 

วิหารพาร์เธนอนสร้างขึ้นระหว่าง 447-432 BCE เพื่อถวายเทพีแห่งปัญญา "Athena"
อริสโตเติลคือพระอาจารย์ผู้วางรากฐานความรู้ให้พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช

 

จุดเด่นอย่างหนึ่งของอารยธรรมกรีกคือการได้รับยกย่องให้เป็นต้นแบบงานศิลปกรรมของโลก ส่วนใหญ่เป็นงานสร้างสรรค์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากความศรัทธาทางศาสนา ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อแสดงความเคารพบูชาต่อเทพเจ้า สถาปัตยกรรมชิ้นเอกของโลกอย่างวิหารพาร์เธนอน หนึ่งในสิ่งก่อสร้างที่มีสัดส่วนงดงามทั้งสามมิติ นอกจากนี้แล้วสิ่งที่เปรียบเสมือนอัตลักษณ์ของอารยธรรมกรีกคือความเจริญด้านปรัชญา นักปรัชญากรีกที่มีชื่อเสียงโดดเด่นเป็นอมตะ ได้แก่ โซเครติส เพลโต และอริสโตเติล ล้วนแล้วแต่เป็นนักคิด ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของบุคคลในประวัติศาสตร์มากมาย 

 

อารยธรรมอินเดียโบราณ 2500 BCE-1858 CE

Ancient India

อารยธรรมอินเดียโบราณเกิดขึ้นบริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุ ปัจจุบันคือแคว้นปัญจาบในประเทศปากีสถาน หรืออีกชื่อคือ อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ มีศูนย์กลางความเจริญอยู่ที่บริเวณเมืองโบราณโมเฮนโจ-ดาโร (Mohenjo-daro) และเมืองฮารัปปา (Harappa) โดยปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีว่ามีการติดต่อค้าขายกับดินแดนเมโสโปเตเมีย ชนพื้นกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานคือชาวดราวิเดียน หรือทราวิฑ (Dravida) ก่อนที่ภายหลังจะถูกครอบครองโดยชาวอารยัน จึงเกิดการผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมของสองชนชาติ และเกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะทางอารยธรรมที่ถ่ายทอดมาถึงอินเดียยุคใหม่อย่างที่เรารู้จักกันดี

 

ผังเมืองฮารัปปา (Harappa) ตั้งอยู่ในแคว้นปัญจาบ ประเทศปากีสถานในยุคปัจจุบัน
Vedas
คัมภีร์พระเวท คือคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่เก่าแก่ที่สุดในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู 

 

ลักษณะเด่นของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ คือความเจริญด้านสังคมเมือง เห็นได้จากการวางผังเมืองที่เป็นระเบียบ แบ่งผังเมืองออกเป็นตาราง มีระบบท่อระบายน้ำของเมืองเชื่อมบ้านแต่ละหลัง มีการตัดถนนเป็นมุมฉาก สะท้อนความรู้ด้านเรขาคณิตขั้นสูง นอกจากนี้ยังมีผลงานวรรณกรรมอันทรงคุณค่าอย่างมหาภารตะ และรามายณะ รวมไปถึงเป็นถิ่นกำเนิดของหลายศาสนา ทั้งพุทธ และเชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งมี “คัมภีร์พระเวท” เป็นหัวใจสำคัญที่มีอิทธิพลต่อระบบความคิด ความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรม ซึ่งเป็นรากฐานของระบบความคิดทางศาสนา และปรัชญาของอินเดียทั้งหมด

 

อารยธรรมจีนโบราณ 4000 BCE-1644 CE

อารยธรรมจีนโบราณก่อกำเนิดขึ้นบริเวณเขตลุ่มแม่น้ำหวงหรือแม่น้ำเหลืองทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีนในปัจจุบัน ก่อนจะขยายตัวเข้าไปในเขตลุ่มแม่น้ำแยงซี เนื่องจากเป็นอารยธรรมที่หล่อหลอมขึ้นภายในดินแดนของตนเองเป็นส่วนใหญ่ จึงได้รับอิทธิพลจากโลกภายนอกไม่มากนัก ทำให้มีรากฐานที่มั่นคงและความเป็นเอกภาพสูงต่างจากอารยธรรมร่วมสมัยอย่างอินเดียโบราณ และเมโสโปเตเมียที่ก่อตัวขึ้นจากการผสมผสานกันของหลายวัฒนธรรม

 

Chinese Compass
เข็มทิศโบราณถูกประดิษฐ์ขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกในสมัยราชวงศ์ฮั่น
Chinese Silk
ส่วนหนึ่งของภาพเขียนบนผ้าไหมของจาง เซวียน ศิลปินยุคราชวงศ์ถัง

 

ความเจริญรุ่งเรืองของอารยธรรมจีนโบราณเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนานจนสิ้นสุดสมัยการปกครองแบบราชวงศ์ วิทยาการของชาวจีนโบราณนั้นก้าวหน้าในทุกด้าน ทั้งวิทยาศาสตร์ การแพทย์ ดาราศาสตร์ ศิลปะ วรรณกรรม เปรียบได้กับอู่อารยธรรมที่พร้อมพรั่ง วิทยาการอันก้าวหน้าของชาวจีนยุคโบราณเป็นที่ประจักษ์ยังคงอยู่ถึงทุกวันนี้ เช่น การประดิษฐ์เข็มทิศขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก การคิดค้นดินปืน การรักษาด้วยการฝังเข็ม และที่สำคัญคือริเริ่มเลี้ยงไหมและแปรรูปเป็นแพรพรรณ ปลุกให้เส้นทางสายไหมถือกำเนิดบนหน้าประวัติศาสตร์เส้นทางการค้าอันยิ่งใหญ่ของโลก 

 

เราเรียนเรื่องอารยธรรมโลกโบราณกันไปทำไม? 

เมื่อลองมองลึกลงไปในแง่ของประวัติศาสตร์ อารยธรรมโบราณมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาวิทยาการความรู้ของมนุษย์อย่างสอดประสานกันในทุกยุคสมัย จากรูปแบบทางสังคมที่เรียบง่ายสู่การขยายตัวอันซับซ้อน สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วพริบตา หากแต่ผ่านกาลเวลาสั่งสมมาช้านาน การศึกษาอารยธรรมโลกโบราณคือการย้อนกลับไปมองอดีตเพื่อเรียนรู้ถึงที่มาของปัจจุบัน ความเจริญรุ่งเรืองของอารยธรรมใด ๆ ล้วนเกิดจากการพัฒนาเพื่ออยู่รอดและอยู่อย่างไรให้มีคุณค่า เปรียบได้กับเมล็ดพันธุ์ทางภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษเพาะเลี้ยงไว้ให้หยั่งรากลงไปให้ลูกหลานได้พึ่งพา อารยธรรมแห่งโลกอนาคตจะผลิบานไม่ได้เลย หากไม่รู้จักรากฐานว่าเราเติบโตมาอย่างไร

 

THiNKNET Design Studio ได้รวบรวมแหล่งอารยธรรมสำคัญของโลกที่น่าสนใจไว้ในสื่อการศึกษา “อารยธรรมโลกโบราณ” ซึ่งประกอบด้วยรายละเอียดของอารยธรรมโบราณ เช่น อียิปต์โบราณ กรีก โรมัน อินเดียโบราณ จีนโบราณ ไวกิ้ง มายา ฯลฯ เนื้อหาอ่านง่าย พร้อมแผนที่โลกแสดงจุดกำเนิดอารยธรรม และแผนภาพลำดับช่วงเวลาการกำเนิดอารยธรรม ถ่ายทอดผ่านภาพประกอบสวยงาม เหมาะสำหรับมัธยมศึกษาตอนปลาย อายุ 15-17 ปี

World Civilization

 

จะเห็นได้ว่าโลกนี้ประกอบไปด้วยอารยธรรมที่หลากหลาย ปัจจัยภูมิศาสตร์ เช่น ทะเลทราย ภูเขา ป่าดิบชื้น ลุ่มแม่น้ำ คือส่วนสำคัญที่ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของแต่ละสังคมมีลักษณะเฉพาะของตนเอง อารยธรรมในส่วนต่าง ๆ ของโลกจึงแตกต่างกันไป ความหลากหลายนี้เองที่หลอมรวมอารยธรรมมนุษย์ให้ยังคงพัฒนาต่อไปข้างหน้า แต่ก็มีจุดร่วมเดียวกันคือการดำรงไว้ซึ่งเผ่าพันธุ์ และฝันหาอนาคตข้างหน้านั่นเอง

 

ดูรายละเอียดของสินค้าและสั่งซื้อสื่อการเรียนรู้เรื่องอารยธรรมโลกโบราณไดที่นี่ ศึกษาความแตกต่างทางกายภาพของโลก ได้จากแผนที่ชุดกายภาพโลก 2 ภาษา หรือดูขอบเขตการปกครองของโลกยุคปัจจุบันได้จากแผนที่ชุดรัฐกิจโลก 2 ภาษาแบ่งสีตามประเทศ

 

THiNKNET Design Studio ยังมีผลิตภัณฑ์อีกมากมายให้เลือกสรร ไม่ว่าจะเป็น สื่อการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ แผนที่เพื่อการวางแผนธุรกิจ รวมถึงหนังสือคู่มือท่องเที่ยว "เที่ยว ล่า สุด" หนังสือท่องเที่ยวที่ออกตามล่าหาความเป็นที่สุดในทุก ๆ การเดินทาง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ Facebook : THiNKNETDesignStudio  
ซื้อสินค้าสื่อการเรียนรู้อื่น ๆ แผนที่เพื่อการตกแต่ง และหนังสือคู่มือท่องเที่ยวได้ ที่นี่   
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม Line: @thinknetdesign
Tel: 0 2480 9990 

 

ขอบคุณข้อมูล 
https:// legacy.orst.go.th/?knowledges=อียิปต์-๒๘-มีนาคม-๒๕๕๔ 

https://www.matichonweekly.com/column/article_95638 

https://www.matichonweekly.com/column/article_366399 

https://education.nationalgeographic.org/resource/key-components-civilization 

https://www.bbc.com/thai/thailand-46849203 

https://www.worldhistory.org/civilization/ 

https://fromental.co.uk/craftsmanship/the-history-of-silk/

tags : อารยธรรมโลกโบราณ สังคมศึกษา สื่อการศึกษา เมโสโปเตเมีย อียิปต์โบราณ thinknet thinknetdesignstudio



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email