อัปเลเวลก่อนทำงานจริงที่ THiNKNET ฝึกงานที่นี่เป็นยังไง? ลองไปฟังจาก 'เจฟฟี่' กัน

อัปเลเวลก่อนทำงานจริงที่ THiNKNET ฝึกงานที่นี่เป็นยังไง? ลองไปฟังจาก 'เจฟฟี่' กัน
31/08/22   |   4.8k

 

ก่อนที่จะได้ลงสนามทำงานจริง นักศึกษาหลาย ๆ คนที่ใกล้เรียนจบจะเริ่มมองหาบริษัทที่เหมาะสำหรับการฝึกงานเพื่อสะสมประสบการณ์และพัฒนาศักยภาพของตัวเองให้พร้อมสำหรับในอนาคต ซึ่งน้องเจฟฟี่ นักศึกษาฝึกงานตำแหน่ง Software Engineer ที่ THiNKNET ก็มีมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับการฝึกงานในรูปแบบ Work from Anywhere (WFA) มาแชร์ว่าเราสามารถเรียนรู้และพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ไปได้มากแค่ไหน แม้จะทำงานแบบไม่ต้องเข้าออฟฟิศ

 

แนะนําตัว ชื่ออะไร เรียนคณะอะไร ที่ไหน?

สวัสดีครับบ ผม ชวิน โล่ห์รัตนเสน่ห์ ชื่อเล่น เจฟฟี่ นะครับ ตอนนี้เรียนอยู่ชั้นปีที่ 4 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ แขนงวิชา Software Engineer ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยมาฝึกงานตำแหน่ง Software Engineer ในช่วงปิดเทอม ปี 3 ขึ้นปี 4 ครับ

 

ฝึกงานที่นี่ได้รับผิดชอบงานส่วนไหน แล้วกระบวนการทํางานเป็นยังไงบ้าง?

หลัก ๆ แล้วผมจะรับผิดชอบในส่วน Service ซึ่งมีหน้าที่ดึงข้อมูลสถิติการใช้งานบางอย่างในระบบ จากที่เก็บข้อมูลจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่ง (BigQuery ไปสู่ MongoDB) และทำการประมวลผลให้เพื่อน ๆ ที่ฝึกงานพร้อมกันอีก 3 คนสามารถนำไปแสดงผล หรือประมวลผลต่อสำหรับการดูภาพรวมสถิติ และ Export สถิติออกมาในรูปแบบ Excel ต่อครับ

 

โปรเจกต์นี้จะมีพี่ที่ให้เนื้อหางานมา แต่คนที่คิดว่าจะทำอะไรบ้างจะเป็นทีมน้อง ๆ ฝึกงาน ซึ่งทีมน้องฝึกงานก็จะเป็นเพื่อนที่มาจากต่างมหาวิทยาลัยกันด้วยครับ โดยจะมีกระบวนการทำงานเริ่มจากรับ Requirement และ UI มาจากพี่ ๆ ทีม BA, UX/UI ก่อน แล้วมาประชุมกันว่าต้องทำอะไรบ้าง มีรายละเอียดต่าง ๆ อะไรบ้าง เพื่อให้เวลาแบ่งงานกันแล้ว ทุกคนจะสามารถเข้าใจงานได้จริง ๆ และทำงานให้ไหลลื่นมากขึ้น

 

หน้าที่ที่ได้รับผิดชอบต้องใช้ทักษะอะไรบ้างทั้ง Hard Skills และ Soft Skills?

สำหรับ Hard skill เรื่องที่ต้องรู้หลัก ๆ ที่นี่เราจะใช้ภาษาคอมพิวเตอร์ JavaScript เป็นหลัก แล้วก็ทำงานผ่าน GitHub ที่เรียกง่าย ๆ จุดศูนย์รวม Code ของทุก ๆ ทีมครับ ส่วนที่เหลือจะเป็นเรื่องที่เราสามารถมาเรียนรู้จาก Bootcamp ในช่วงเริ่มการฝึกงานได้ ซึ่ง Bootcamp นี้จะช่วยปรับพื้นฐานเรื่องต่าง ๆ ที่จะใช้ในการพัฒนาระบบอย่างละเอียด และถ้าอยากเรียนรู้เนื้อหาอื่น ๆ ก็สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมนอกเหนือจากที่พี่แนะนำมาได้ โดยงานส่วนที่ผมรับผิดชอบนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของข้อมูลต่าง ๆ ที่นำไปใช้งานต่อทั้งหมด ซึ่งต้องใช้ความละเอียดค่อนข้างสูง เป็นการฝึกตัวเองเรื่องการเก็บรายละเอียดต่าง ๆ รวมทั้งการคาดการณ์ปัญหาที่น่าจะเกิดขึ้นและการหาสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังฝึกให้ผมได้เขียนระบบที่มีความยืนหยุ่นสามารถปรับอะไรต่าง ๆ ได้มากขึ้นด้วยครับ

 

ส่วนเรื่อง Soft Skill จะมีเรื่องการสื่อสารระหว่างภายในทีมกันเองและการสื่อสารระหว่างทีม ไปจนถึงเรื่องการแบ่งเวลาสำหรับการทำงานโดยเราจะได้ประเมินเวลาและแบ่งเวลาเองว่างานชิ้นนี้จะเสร็จเมื่อไหร่และจะทำยังไงให้เสร็จทันกำหนดส่ง

 

มีโอกาสไหนบ้างที่เปิดโอกาสให้เราได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทํางาน?

การประชุมวางแผนระบบทำให้เราได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์และแลกเปลี่ยนความคิดกันในทีมเยอะมาก เพราะแต่ละคนก็จะมีวิธีการทำงาน และการวางแผนที่แตกต่างกัน ซึ่งจะมีพี่ ๆ คอยดูอยู่ห่าง ๆ ถ้าเกิดมีปัญหาอะไรขึ้นมา

 

มีปัญหาเรื่อง Skill Gap บ้างไหม? แล้วเรามีเทคนิคการพัฒนาตัวเองยังไงบ้าง เพื่อทําให้การทํางานมีประสิทธิภาพดีขึ้น?

ส่วนตัวรู้สึกว่าไม่ค่อยมีปัญหาส่วน Skill Gap เท่าไหร่ แต่ยังไงเราก็ต้องพัฒนาความรู้และความสามารถตัวเองจากเดิมอยู่ดี เพื่อให้งานที่ออกมาสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยเทคนิคก็คือพยายามค้นหาและอ่าน Document ของสิ่งที่ทำอยู่เยอะ ๆ หรือถามพี่ ๆ ที่เคยทำส่วนนี้มาก่อน เพื่อนำวิธีไปปรับใช้กับตัวเอง

 

นอกจากนี้ส่วนตัวผมจะอ่าน Blog เกี่ยวกับเทคโนโลยีหรือเทคนิคการเขียน Code ต่าง ๆ ที่น่าสนใจ แล้วนำมาปรับใช้กับตัวเอง และก็เข้าไปดูเอกสารต่าง ๆ ใน Bootcamp ซึ่งมีหลายหัวข้อที่น่าสนใจและยังไม่เคยลองใช้เอง

 

Skill หรือสิ่งที่ได้จากการทํางานและสามารถเอาไปต่อยอดให้กับตัวเองได้มีอะไรบ้าง?

หลัก ๆ ก็จะเป็นการเขียน Code ให้เป็นระเบียบและอ่านง่ายให้มากที่สุด เพราะว่าเราไม่รู้ว่าจะมีใครมาทำงานต่อจากเราบ้าง และจะเขียนคอมเมนต์ถึงการทำงานในส่วนนั้น ๆ กำกับไว้ด้วย เพราะบางที Code มันมีความยุ่งยาก เลยใช้วิธีเขียนเอาไว้ว่าตรงส่วนนี้ทำประมาณนี้นะ มีขั้นตอนประมาณนี้ นอกจากนี้เรายังได้รู้เกี่ยวกับภาษาการเขียน Code ต่าง ๆ สำหรับเอาไปใช้ทำงานอื่น ๆ ในอนาคตด้วยครับ

 

ส่วนตัวเป็นคนที่มีสไตล์การทํางานเป็นยังไง?

ถ้าเป็นช่วงประชุมงาน ผมจะชอบไปเจอหน้าคนในทีมแบบจริง ๆ มากกว่า เพราะจะทำให้สื่อสารกันได้ง่ายมากขึ้น แต่ถ้าเป็นตอนทำงานตามที่วางแผนไว้จะชอบนั่งอยู่ห้องและฟังเพลงชิล ๆ คลอไปด้วย เพราะจะไม่ค่อยชอบการออกไปนั่งข้างนอกคนเดียวเท่าไหร่ ส่วนตัวผมคิดว่าสิ่งแวดล้อมจะมีผลต่อความคิดสร้างสรรค์มาก ๆ เพราะฉะนั้นการได้อยู่ทำงานที่ห้องแบบนี้ก็ทำให้มีสมาธิในการทำงานสูงขึ้น

 

เราทำยังไงเมื่อเกิดขึ้นปัญหาขึ้นระหว่างการทํางาน แล้วเราทำงานอยู่ที่บ้านคนเดียว?

โดยส่วนตัวผมจะพยายามแก้ปัญหาที่เจอด้วยตัวเองก่อนอยู่แล้ว แต่ถ้าเห็นว่าบางเรื่องมันยังแก้ไขไม่ได้จริง ๆ เราค่อยติดต่อไปถามพี่ ๆ หรือเพื่อน ๆ ต่อไป

 

สิ่งที่ชอบในการทำงานแบบ WFA คืออะไร?

รู้สึกชอบการที่เราสามารถแบ่งและจัดการเวลาในการทำงานด้วยตัวเองได้เลย แต่ยังไงเราก็จะต้องมีวินัยในตัวเองในการทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จด้วย ซึ่งเราก็สามารถเปลี่ยนเอาเวลาจากเดิมที่ต้องเดินทางไปกลับจากบ้านและที่ทำงานมาใช้ทำงานต่อให้ได้มากขึ้นด้วย

 

คิดว่าการ WFA มีส่วนช่วยสร้าง Passion ในการทํางานให้เราได้ยังไงบ้าง?

คิดว่าค่อนข้างเพิ่มได้เยอะ เพราะช่วยลดความเหนื่อยจากการเดินทางลงได้ เนื่องจากคนที่ทำงานไกลบ้านมักจะเจอปัญหาที่ว่า พอทำงานมาหนัก ๆ แล้วยังต้องมาเดินทางต่ออีก ก็จะทำให้เราแทบจะไม่มีเวลาเหลือไปทำอย่างอื่นได้ แต่พอมันเป็นการ WFA ถ้าเรารู้สึกเหนื่อยหรือเหงา ๆ เราก็จะใช้เวลาหลักเลิกงานทำอะไรที่สร้างความสบายใจให้ตัวเองมากขึ้น เช่น ออกไปเดินเล่น หรือไปหาเพื่อน ๆ บ้าง

 

การฝึกงานแบบ WFA เป็นยังไงบ้าง พี่ ๆ ให้การดูแลเรามากน้อยเพียงใด และมี ความท้าทายยังไงบ้าง?

พี่ ๆ ดูแลได้ดีมาก ๆ ถ้าเกิดเจอปัญหาหรือเรื่องสงสัยที่เราหาคำตอบเองไม่ได้ พี่ ๆ ก็พร้อมที่จะช่วยเราเสมอ รวมถึงพี่ ๆ ทีมอื่นด้วย แต่เนื่องจากการทำงานเป็นแบบ WFA บางทีก็จะทำให้การถามเรื่องต่าง ๆ ไม่เร็วเท่าตอนทำงานแบบเจอหน้ากัน เพราะแต่ละคนก็จะมีงานที่ตัวเองรับผิดชอบอยู่ เราเองก็ได้ฝึกการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง แต่เมื่อมีเวลา ทุกคน ก็จะมาช่วยกันแก้ปัญหาอยู่ดีครับ

 

การ WFA มีผลต่อความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานทั้งในและนอกแผนกมากน้อยยังไง?

ทำให้เราไม่ค่อยเจอพี่ ๆ คนอื่นนอกเหนือจากที่พี่ดูแลเท่าไหร่ แต่เมื่อเกิดปัญหาหรือต้องติดต่อ พี่ ๆ ในแผนกหรือนอกแผนก ทุกคนก็พร้อมที่จะช่วยเหลือเสมอครับ

 

การทํางานและการสื่อสารผ่านทาง Online กับคนในทีม หรือนอกแผนกเป็นยังไงบ้าง?

ทีมของผมจะมีการนัดประชุมเพื่ออัปเดตงานและปัญหาที่เจอในตอนเช้าและเย็นของทุกวัน เพื่อร่วมกันคุยและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในงาน ซึ่งการประชุมก็ยังทำให้เราได้พูดคุยกับเพื่อน ๆ พี่ ๆ ในทีมมากขึ้น และถ้าไม่มีสถานการณ์ Covid-19 ระบาดหนัก ในแผนกก็มักจะมีนัดไปพบเจอกันที่ออฟฟิศเพื่อทำงานหรือกินเลี้ยงบ้างอยู่แล้ว

 

การ WFA ทําให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทํางานแบบทีมเวิร์กยังไงบ้าง?

การทำงานแบบ WFA และการสื่อสารผ่านทางออนไลน์อาจทำให้คนบางคนเข้าใจเรื่องบางเรื่องไม่ตรงกัน ทำให้เราเรียนรู้ที่จะพูดคุยให้คนในทีมเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน

 

รู้จัก THiNKNET ได้ยังไง? ทําไมถึงเลือกฝึกงานที่นี่? แล้วพอได้ทำงานจริงเรารู้สึกยังไงบ้าง?

รู้จักมาจากเพื่อนอีกทีนึง แล้วก็ไปอ่านรีวิวจากพี่ ๆ ที่เคยมาฝึกงานปีก่อน ๆ แล้วเห็นว่าดูมีความเป็นกันเองและทำงานกันแบบมืออาชีพ เลยลองสมัครมาดูครับ พอมาทำงานแล้วก็เหมือนที่คิดเลยคือ พี่ ๆ เป็นกันเองมากและคอยดูแลกันตลอดครับ

 

ถ้าจะให้นิยามการทํางานที่ THiNKNET จะนิยามว่ายังไงดี?

การทำงานที่ยืนหยุ่น ที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นมืออาชีพในการทำงาน

 

ช่วยเล่า Moment หรือประสบการณ์การทํางานที่ประทับใจให้ฟังหน่อย

มีครั้งนึงที่ผมเจอปัญหาในตอนที่เขียน Code แล้วมันใช้งานไม่ได้ ผมเลยพยายามเปลี่ยนไปใช้วิธีเขียนอีกแบบนึงซึ่งมันก็ลำบากมากขึ้น เพราะเป็นวิธีอ้อม ๆ ส่งผลให้ทำงานได้ช้าลง ซึ่งผมก็ยังอยากรู้ว่าถ้าเป็นวิธีการแบบตรง ๆ ไม่อ้อม มันทำงานยังไง ผมเลยไปปรึกษาพี่ทีม SRE (Site Reliability Engineer) ดู แล้วพี่เขาก็ช่วยแกะการทำงานของมันจนเจอวิธีการแก้ปัญหาที่ดีและทำให้ทำงานได้ไหลลื่นมากขึ้น ผมจึงประทับใจมาก ๆ ที่พี่เขายอมมานั่งช่วยแกะการทำงาน เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับผม ทั้ง ๆ ที่อยู่ต่างทีมกันครับ

 

เรามาฝึกงานกับทาง THiNKNET ได้ยังไง? แล้วฝึกตั้งแต่ช่วงไหนถึงช่วงไหน?

ตอนขึ้นปี 4 คณะของผมเขาจะให้เลือกระหว่างการทำโปรเจกต์อยู่คณะ กับการทำสหกิจ ซึ่งสหกิจก็คือประมาณว่ามาฝึกงานหรือทำโปรเจกต์กับทางบริษัท แล้วเอาโปรเจกต์ที่ทำไปพรีเซนต์ว่าเราทำอะไรมาบ้าง โดยผมเลือกรูปแบบสหกิจที่มีช่วงเวลาการทำโปรเจกต์เป็นช่วงเดือนสิงหาคม - เดือนพฤศจิกายน (ช่วงในเทอม) แต่ผมก็มาขอฝึกงานที่นี่ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเพื่อที่จะได้ชินกับบริษัทไปเลยครับ

 

การได้มาทำงานกับเพื่อน ๆ ในทีมฝึกงานมันต่างจากประสบการณ์ที่เราทำฟรีแลนซ์เองยังไงบ้าง?

ผมเคยรับงานฟรีแลนซ์กับเพื่อนมาก่อนตอนอยู่ที่ลาดกระบังฯ เป็นงานเขียน Code สำหรับแอปพลิเคชันซึ่งเราสามารถคิดไปพร้อม ๆ กับการลงมือทำได้ แต่พอได้มาฝึกงานที่ THiNKNET ความจริงจังในการทำงานเป็นทีมของที่นี่จะค่อนข้างสูงครับ เราจะมีการคิดและแบ่งงานตั้งแต่เริ่ม รวมถึงความละเอียดโดยจะต้องคำนึงถึงอนาคตด้วย

 

หลังจากฝึกงานเสร็จ เราจะสามารถเอาประสบการณ์จากที่นี่ไปต่อยอดอะไรได้บ้าง?

ผมว่าเยอะครับ หลัก ๆ เลยก็จะเป็นเรื่อง Soft Skill ที่ได้พูดถึงไปก่อนหน้านี้อย่าง เรื่อง “การสื่อสาร” ครับ อยู่ที่นี่เราได้ฝึกเรื่องการสื่อสารกับในทีมเยอะมาก เราต้องสื่อสารให้เข้าใจตรงกันจริง ๆ ตั้งแต่ต้น หรือแม้แต่การสื่อสารนอกทีมก็ตาม หรือจะเป็นการสื่อสารกับพี่ที่อยู่มานานแล้ว เราก็จะต้องมีวิธีการเลือกคำพูดเพื่อขอให้เขาช่วยเรา เพราะรูปแบบการเข้าหาคนแต่ละคนมันจะมีความแตกต่างกัน และเราก็ต้องพิมพ์ให้เขาอ่านแล้วเข้าใจ ไม่ใช่ให้เราเข้าใจคนเดียว

 

นอกจากพาร์ทการทํางาน เราทำกิจกรรมอะไรบ้างที่ทำหลังเลิกงาน?

ส่วนตัวเป็นคนที่ชอบอยู่หน้าคอมอยู่แล้ว หลังเลิกงานเราก็จะเล่นเกมบ้าง หรือนั่งเลื่อนหาอะไรอ่านไปเรื่อยบ้าง บางทีก็อ่านการ์ตูน บางทีก็อ่านเรื่องการเขียน Code ทั้งในแง่ภาษาใหม่ ๆ ไปจนถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่ออัปเดตตัวเอง หรือไม่ก็จะมีออกไปปาร์ตี้สังสรรค์กับเพื่อนบ้างครับ ซึ่งการทำงานแบบ WFA ก็ทำให้เราแบ่งเวลาในการทำงานได้ดีขึ้นมากเลยครับ

 

ท้ายที่สุดแล้วเราจะเห็นว่าหนึ่งในวิธีการสะสมประสบการณ์การทำงานที่ดีที่สุดก็คงหนีไม่พ้นการฝึกงาน ซึ่งนักศึกษาฝึกงานที่เข้ามาฝึกกับทาง THiNKNET ก็ได้เรียนรู้และได้ลองทำงานจริง ๆ โดยที่การทำงานแบบ WFA ไม่ได้เข้ามาเป็นอุปสรรคเลยแม้แต่น้อย เพราะยังสามารถเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเองได้จากทุก ๆ ที่

tags : thinknet work from anywhere wfh work from home hybrid working software engineer ทำงานที่ไหนก็ได้ ฝึกงาน นักศึกษาฝึกงาน intern



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email