คุยกับภีม นิสิตฝึกงานที่ตัดสินใจทำ Side Project กับ THiNKNET 

คุยกับภีม นิสิตฝึกงานที่ตัดสินใจทำ Side Project กับ THiNKNET 
23/08/22   |   4k

นอกจากการฝึกงานแล้ว การทำ Side Project หรือโปรเจกต์นอกเวลา ที่เป็นการตกลงร่วมกันระหว่างน้อง ๆ นักศึกษากับองค์กร จะเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ช่วยสร้างโปรไฟล์ที่ติดตัวเรา และเป็นข้อดีในการสมัครงานในอนาคตเป็นอย่างมาก วันนี้เลยอยากพาทุกคนมาพูดคุยกับน้องภีม ภีมพจน์ ชุมสวี นิสิตฝึกงานจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ที่เข้ามาร่วมงานกับ THiNKNET ในฐานะนิสิตฝึกงาน และอาจจะมาเป็นพนักงาน Part-time ต่อ หากภาระจากการเรียนที่มหาวิทยาลัยไม่มากเกินไป

 

แนะนําตัว ชื่ออะไร เรียนคณะอะไร ที่ไหน

สวัสดีครับ ภีมพจน์ ชุมสวี ชื่อเล่นชื่อภีมครับ ปัจจุบันกำลังเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ตอนนี้อยู่ปี 3 กำลังจะขึ้นปี 4 ในเทอมหน้าครับ

 

ฝึกงานที่นี่ได้รับผิดชอบงานส่วนไหนบ้าง กระบวนการทํางานเป็นยังไง เล่าให้ฟังหน่อย

ได้รับผิดชอบในส่วนฟีเจอร์เกี่ยวกับสถิติการใช้งานบางอย่างของเว็บไซต์ JobThai ครับ เป็นฟีเจอร์หลังบ้านโดยจะทำการดึงข้อมูลออกมาจาก Database ผ่านการจัดรูปแบบและประมวลผล Data ให้ออกมาแสดงที่หน้า Back Office และสามารถ Export ออกมาเป็น Excel Reports ได้ครับ

 

ส่วนที่ผมรับผิดชอบจะเป็นส่วนการสร้าง Service เพื่อดึงข้อมูลมาแสดงบน Back Office ของเว็บไซต์ JobThai และทำหน้า UI ครับ งานนี้ได้ทำกับเพื่อนฝึกงานอีก 3 คน โดยมีพี่เลี้ยงที่คอยให้คำปรึกษาและแนะนำในเรื่องการทำงาน 2 คน เริ่มต้นจากการได้รับ Requirement และ Design UI จากพี่ ๆ Business Analyst (BA) แล้วพวกเรา 4 คน จะวางแผนเรื่องต่าง ๆ ก่อนจะเขียน Code แล้วปรับออกไปให้คนอื่นสามารถนำไปใช้ได้ครับ

 

หน้าที่ที่ได้รับผิดชอบต้องใช้ทักษะอะไร ได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการฝึกงานที่นี่

ได้เรียนรู้และใช้งานหลากหลายทักษะครับ อย่าง Hard Skills ก็จะเป็นพวก Framework และ Tools ต่าง ๆ ที่เรียนในช่วง Bootcamp และได้ใช้ตอนทำฟีเจอร์ (graphQL, cypress, jest) นอกจากนี้ หน้าที่ของผมจะได้รับงานด้าน UI (User Interface) ค่อนข้างเยอะ ทำให้ต้องมีความละเอียดรอบคอบเพื่อให้สามารถสร้าง UI ที่ตรงความต้องการได้ ส่วน Soft Skills ก็จะเป็นทักษะด้านการสื่อสารให้เพื่อนร่วมฝึกงานหรือพี่เลี้ยงเข้าใจ และที่สำคัญที่สุดคือการเรียนรู้ด้วยตัวเองครับ

 

มีโอกาสใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทํางานยังไงบ้าง

ในช่วงของการวางแผนกับเพื่อนที่ฝึกงานด้วยกันก่อนลงมือเขียนโค้ด เป็นช่วงที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์เยอะมากครับ เพราะต้องแปลงร่างโจทย์ให้ออกมาเป็น Logic ซึ่งก็สามารถแปลงออกมาได้หลายแบบ แล้วแต่ความคิดสร้างสรรค์เลยครับ ซึ่งผมก็ได้ออกความเห็นและเสนอความคิดบ่อยที่สุดในช่วงนี้อย่างการได้เสนอให้ทำการดึงข้อมูลเข้าสำหรับการดูสถิติแยกตามเดือน เพื่อเป็นการลด Load ตอนโหลดหน้าเว็บ ทำให้การโหลดเสร็จเร็วขึ้นครับ

 

มีปัญหาเรื่อง Skill Gap บ้างไหม และมีเทคนิคยังไงในการพัฒนาทักษะที่ไม่ถนัด

สำหรับผมมีอยู่บ้างครับ เนื่องจากมีหลาย Tools ที่ยังใช้ไม่คล่องแต่ต้องใช้ในการทำงาน อย่างการใช้ Docker เทคนิคในการพัฒนาทักษะที่ไม่ถนัดพวกนี้ของผมคือ การเรียนรู้ด้วยตนเองครับ เพราะเป็น Soft Skills ที่ช่วยสร้าง Hard Skills นั่นเอง อย่างในกรณีนี้ ผมเรียนรู้การใช้ Docker เอง จนทำให้สามารถใช้งานได้เป็นครับ โดยผมจะดู Tutorial ผ่าน Youtube และอ่านเอกสารของเครื่องมือนั้นครับ

 

Skill หรือสิ่งที่สามารถเอาไปต่อยอดให้ก้บตัวเองได้มีอะไรบ้าง และต่อยอดยังไง

ผมคิดว่าทั้ง Hard Skills และ Soft Skills ที่ได้เรียนและใช้งานที่นี่ทั้งหมดสามารถนำไปต่อยอดได้ครับ อย่างเรื่องการใช้ เทคโนโลยี และ Tools ต่าง ๆ ก็สามารถต่อยอดให้สร้างสรรคสิ่งใหม่ ๆ ที่จะทำในอนาคตได้ ส่วนการเรียนรู้ด้วยตนเอง ก็ได้ใช้แน่นอนในการทำงานครับ

 

ส่วนตัวเป็นคนที่มีสไตล์การทํางานเป็นยังไง

สไตล์การทำงานของผมถ้าไม่ใช่งานที่ต้อง Brainstrom ก็จะชอบทำอยู่เงียบ ๆ คนเดียวมากกว่าครับ เพราะทำให้มีสมาธิจดจ่อกับงานได้ดี แต่ถ้างานที่ต้องระดมความคิดอย่างการวางแผนก่อนเขียนโค้ดถ้าได้ทำด้วยกันเป็นกลุ่มจะดีกว่าครับ

 

รู้สึกยังไงกับการ Work from Anywhere (WFA) คืออะไร

รู้สึกว่าประทับใจครับ เพราะสะท้อนให้เห็นว่าบริษัทมีการปรับตัวตามสถานการณ์ตลอด ทำให้มั่นใจว่าฝึกงานที่นี่ จะต้องได้ความรู้ที่ทันสมัยกลับไปแน่นอน ส่วนสิ่งที่ชอบในการ WFA คือสามารถตื่นก่อนเข้างาน 10 นาทีได้ครับ ไม่มีสายแน่นอน (ฮ่า ๆ )

 

คุยกับภีม นิสิตฝึกงานที่ตัดสินใจทำ Side Project กับ THiNKNET

 

คิดว่าการ WFA มีส่วนช่วยสร้าง Passion ในการทํางานให้เรามากน้อยแค่ไหน

สร้างได้เยอะเลยครับ เพราะ WFA ให้อิสระในการทำงานมากขึ้น ไม่จำกัดอยู่ในกรอบของสภาพแวดล้อมที่จำเจ ทำให้สนุกไปกับการทำงานในที่ที่อยากทำได้ เช่นวันนี้อยากทำงานที่เย็น ๆ ไปทำที่ร้านกาแฟได้ อยากทำงานแบบเลิกงานปุ๊บ ดูหนังปั๊บ ก็ไปทำงานที่ Working Space ในห้างได้ หรือถ้าคิดถึงออฟฟิศก็สามารถเข้ามาทำที่ออฟฟิศได้เช่นกัน

 

มีความคิดเห็นยังไงกับคําว่า “สิ่งแวดล้อมและบรรยากาศของการทํางานมีผลต่อความคิดสร้างสรรค์” 

เห็นด้วยอย่างมากครับ สภาพแวดล้อมที่ต่างกัน เท่ากับเราได้เห็น สัมผัส และรู้สึกต่างกัน ซึ่งทั้งหมดคือวัตถุดิบของความคิดสร้างสรรค์ ในเมื่อวัตถุดิบเปลี่ยน ความคิดสร้างสรรค์ก็จะเปลี่ยนตามครับ ส่วนการทำงานที่บ้านทำให้ผมมีสมาธิมากขึ้น เพราะสิ่งเร้าที่คอยทำลายสมาธิลดลง

 

การฝึกงานแบบ WFA เป็นยังไงบ้าง คิดว่าทํางานแบบ WFA ยากและมีความท้าทายยังไงบ้าง

พี่ ๆ ดูแลดีมากครับ ไม่ว่าจะเกิดปัญหาหรือต้องการคำปรึกษาตอนไหน ก็สามารถถามได้เลย และพี่ ๆ จะรีบตอบทันทีเมื่อเห็นข้อความครับ ซึ่งค่อนข้างเร็วเลย ทำให้ไม่รู้สึกถึงความยากลำบากอันเกิดจากระยะห่างเลยครับ สำหรับผม WFA ไม่ได้ยากครับ อาจเพราะชินกับการเรียนออนไลน์มา 2 ปีเต็ม แต่ก็มีความท้าทายอย่างการสื่อสารโดยที่ไม่รู้ว่าอีกฝ่ายอยู่หน้าคอมพิวเตอร์หรือเปล่า 

 

ปกติแล้วการทำงานคือเพื่อนฝึกงานทุกคนจะอยู่ในห้อง Discord Voice Channel เดียวกัน แต่เวลาที่ต้องการคุยจะมีบางที่ที่เพื่อนลุกไปที่อื่น ทำให้คุยไม่ได้ครับ ซึ่งภายหลังผมก็ปรับตัวด้วยการส่งข้อความไปทาง Microsoft Teams ซึ่งเป็นโปรแกรมหลัก ๆ ที่บริษัทใช้แทนครับ

 

ถ้ารู้สึกเหนื่อยหรือเหงามีวิธีการสร้าง Passion ในการทํางานให้ตัวเองยังไง

สำหรับผมจะเป็นการทำให้หายเหนื่อยครับ อย่างการไปนอนหรือเล่นเกม เนื่องจากการทำงานแบบ WFA ในหนึ่งวัน ทำงานกี่ชั่วโมงก็ได้ แต่ให้ครบ 40 ชั่วโมงในหนึ่งสัปดาห์ ทำให้การฝึกงานครั้งนี้มีความยืดหยุ่นและสามารถพักตอนที่ตัวเองเหนื่อยได้

 

เมื่อทํางานแบบ WFA บรรยากาศการทํางานกับคนอื่น ๆ เป็นยังไงบ้าง 

บรรยากาศค่อนข้างเงียบสงบเลยครับ แต่ก็จะมี Microsoft Teams กับ Discord ไว้ใช้ในการติดต่อพูดคุย และในแต่ละวันก็จะมี 2 เวลาที่ทีมจะนัดกันประชุม Daily และเวลานี้ก็จะเป็นการการันตรีว่าทุกคนจะได้ Sync กันครับ

 

เวลามีปัญหาเกิดขึ้นระหว่างการทํางาน การ WFA ส่งผลต่อการทำความเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น และการแก้ไขปัญหาไหม 

ส่งผลอยู่บ้างครับ เพราะในบางครั้งที่เกิดปัญหาขึ้น แต่พี่เลี้ยงติดประชุมทั้งคู่ก็จะส่งผลให้เข้าใจหรือแก้ไขปัญหาได้ช้า แต่เนื่องจากการที่ทีมมี Daily Meeting 2 ครั้งต่อวัน ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นสามารถแก้ไขได้ภายในวันนั้นครับ

 

การ WFA มีผลต่อความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานมากน้อยแค่ไหน

มีผลค่อนข้างมากครับ การ WFA ทำให้ไม่ค่อยรู้จักกับพี่ ๆ คนอื่นนอกจากพี่เลี้ยง ทั้งในและนอกแผนก เพราะไม่ค่อยมีโอกาสได้เจอ แต่ก็จะมีกิจกรรมที่ทำให้ได้เจอกับคนอื่น ๆ อย่างกิจกรรมปฐมนิเทศพนักงานใหม่ที่ทีมการตลาดจัดขึ้น หรือพี่ ๆ ในทีมนัดกินข้าว นอกจากนี้การทำงานทั่วไปก็ทำให้ได้รู้จักกับคนอื่น ๆ เช่นกัน เพราะต้องมีการสื่อสารกันกับพี่ ๆ หลายคนครับ

 

การ WFA ทําให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทํางานแบบทีมเวิร์กยังไงบ้าง

ได้ทำงานเป็นทีมเวิร์กผ่านการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น Discord เวลาพูดคุยกัน และ Overflow เวลาออกแบบ UI draw IO ในการออกแบบสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องวาดรูป นอกจากจะได้ทำงานเป็นทีมแล้วยังทำให้ได้รู้จักเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพิ่มด้วยครับ

 

รู้จัก THiNKNET ได้ยังไง และเมื่อได้ทำงานจริง เป็นเหมือนที่คิดไว้มั้ย

รู้จัก THiNKNET จากงาน Jobfair ของทางภาควิชาครับ สาเหตุที่เลือกฝึกงานที่นี่เนื่องจากได้อ่าน Blog ที่รุ่นพี่ฝึกงานรุ่นก่อนเขียนไว้ ทำให้รู้ว่าฝึกงานที่นี่จะมี Bootcamp ได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ใช้งานในระดับธุรกิจแน่นอน

 

นอกจากนี้ ผมเองก็ชอบ Concept WFA ด้วย จึงทำให้เลือกฝึกงานที่นี่ครับ พอมาฝึกงานที่นี่ค่อนข้างเหมือนกับที่คิดไว้ คือเป็นรูปแบบทำงานที่ไหนก็ได้ แต่ก็ Extreme กว่าที่คิดไว้นิดหน่อย เพราะไม่นึกว่า Engineer ทั้งแผนกจะ WFA กันหมด ไม่มีใครเข้าออฟฟิศกันเลย (ฮ่า ๆ )

 

ช่วยเล่า Moment หรือประสบการณ์การทํางานที่ประทับใจให้ฟังหน่อย

Moment ที่ผมประทับใจสุดคือตอนที่ถามคำถามพี่เลี้ยงครั้งแรกนอกช่วง Daily Meeting เพราะในครั้งนั้น พี่ตอบคำถามเร็วมากถึงแม้จะทำงาน WFA ทำให้รู้สึกว่าที่บริษัทนี้ ระยะทางไม่ใช่อุปสรรค์ต่อการทำงานเลย ถ้าจะให้นิยามการทํางานที่ THiNKNET ก็คงจะนิยามว่า “การทำงานที่ทันสมัย ใช้ความคิดสร้างสรรค์ อบอุ่น และ Flexible”

 

เห็นว่าหลังจบฝึกงานมีการทำ Side Project กับ THiNKNET ต่อ เป็นโปรเจกต์อะไร วิธีการการทํางานเป็น Part-time หรือ Freelance

Side Project ที่ทำต่อก็ยังเป็นฟีเจอร์เดียวกันกับที่ทำในช่วงฝึกงานครับ เป็นการทำต่อให้สำเร็จเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งในช่วงแรก จะทำในลักษณะ Side Project ไปก่อนจนทำฟีเจอร์นี้จบ แล้วค่อยทำเป็น Part-time ต่อ หากภาระจากการเรียนที่มหาลัยไม่มากเกินไปครับ

 

ทําไมถึงตัดสินใจทํา Side Project กับ THiNKNET ต่อ

เนื่องจากว่าฟีเจอร์ที่ทำอยู่ในช่วงฝึกงานยังไม่เสร็จดี ผมเลยอยากทำงานต่อให้สำเร็จลุล่วง เพราะผมเชื่อว่าประสบการณ์ทำงานที่ทำจนสำเร็จจะได้อะไรกลับไปมากกว่าทำงานแบบยังไม่ Complete แล้วหยุดไปครับ

 

การฝึกงาน อีกพาร์ทหนึ่งของชีวิตนักศึกษา นอกจากประสบการณ์ที่สามารถนำไปเขียนลงในเรซูเม่แล้ว ยังเป็นทักษะที่จะติดตัวไปตลอดการทำงานอีกด้วย ซึ่งการทำ Side Project หรือเลือกทำ Part-timeต่อ หลังจากครบกำหนดระยะเวลาการฝึกงาน จะเป็นอีกข้อได้เปรียบในการสมัครงานในอนาคตและประวัติที่น่าสนใจในเรซูเม่แน่นอน ถ้าอยากมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในทีม THiNKNET ทางบริษัทก็กำลังมองหาเพื่อนร่วมงานหลายตำแหน่ง คลิกที่นี่ เพื่อดูตำแหน่งที่เปิดรับได้เลย

 

tags : thinknet ทิงค์เน็ต work from home work from anywhere software engineer wfh wfa hybrid working ทำงานที่ไหนก็ได้ นักศึกษาฝึกงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email