เจาะลึกการเป็น Multimedia Designer ที่ THiNKNET

เจาะลึกการเป็น Multimedia Designer ที่ THiNKNET
06/07/23   |   2.7k

สวัสดีทุกคนที่แวะเข้ามาอ่านครับ ผมชื่อโฟล์กเป็น Multimedia Designer อยู่ที่ THiNKNET วันนี้ผมจะมาพูดถึงตำแหน่งที่ผมทำ ว่าต้องทำอะไรบ้าง รวมไปถึงเครื่องมือหลัก ๆ ที่ใช้ในการทำงาน การเติบโตในสายงาน และคนที่จบไม่ตรงสายจะสามารถเป็น Multimedia Designer ได้ไหม 

 

Multimedia Designer คือใคร ทำอะไรบ้าง ?

Multimedia Designer คือผู้ออกแบบสื่อออนไลน์และออฟไลน์ ทั้งภาพและวิดีโอ ตามจุดประสงค์ต่าง ๆ เช่นทำเพื่อโปรโมทสินค้า การประชาสัมพันธ์ หรือสร้างการรับรู้ โดยผมจะขอยกตัวอย่างการเป็น Multimedia Designer ของทีมเราให้ฟังครับ ในสมาชิกทีมเราจะได้รับมอบหมายให้ดูแลงานที่แตกต่างกันตามความถนัดของแต่ละคน ผมมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลงานของ THiNKNET Design Studio ซึ่งเป็นหนึ่งใน Product ของ THiNKNET โดยเป็น Product ที่ทำเกี่ยวกับการขายกรอบรูปและภาพไม่ว่าจะเป็นภาพแผนที่สำหรับตกแต่ง (Map Decorate) ภาพการศึกษา (Education) ภาพฮวงจุ้ย ฯลฯ ตัวผมมีหน้าที่ร่วมออกแบบสื่อลงเพจเฟสบุ๊ค ทั้งสื่อโปรโมทสินค้า โปรโมชัน รวมไปถึงออกแบบภาพสินค้าด้วย


ส่วนสำคัญของการทำงานด้านการ Design คือการพัฒนางานให้ทันสมัยอยู่เสมอ โดยวิธีพัฒนา Design ของทีมเราคือ ทุก ๆ วันพฤหัสจะมีการแชร์เทรนด์ดีไซน์ใหม่ ๆ และเทคนิคการออกแบบหรือคีย์ลัดในโปรแกรมออกแบบ เป็นต้น เท่านี้ก็พอจะเห็นภาพกันบ้างแล้วว่าตำแหน่ง Multimedia Designer ของทีมเราทำอะไรกันบ้าง ต่อไปผมจะพาไปเจาะลึกเรื่องโปรแกรมหลัก ๆ ที่ทีมเราใช้ในการทำงาน กับทีมอื่น ๆ ที่เราต้องทำงาน และโอกาสที่จะเติบโตในสายงานนี้
 

โปรแกรมหลัก ๆ ที่ทีมเราใช้ในการออกแบบ

ส่วนใหญ่แล้ว ในทีมจะใช้โปรแกรม Adobe Illustrator, Adobe Photoshop และ Adobe After Effects แต่ถ้ามีโปรแกรมไหนที่น่าสนใจและช่วยในการออกแบบให้ดีขึ้น ทำงานได้ไวขึ้นในทีมก็จะนำมาแชร์กันอย่างเช่นช่วงนี้ AI Generate รูปภาพกำลังมาแรง ในทีมก็จะหาเว็บไซต์ที่น่าสนใจมาแชร์กันเพื่อเอามาช่วยในการออกแบบงาน โดยทีมเราจะมีการจัดคลาสเรียนสำหรับใครที่สนใจอยากเรียนโปรแกรมต่าง ๆ ซึ่งให้คนที่เชี่ยวชาญโปรแกรมนั้น ๆ มาสอนขั้นพื้นฐานกับเพื่อน ๆ เพื่อเอาไปต่อยอดกับงาน จะสังเกตได้ว่าทีมเราจะใช้โปรแกรมตระกูล Adobe เป็นหลักเนื่องจากเป็นโปรแกรมยอดนิยมและทุกคนในทีมใช้เป็นกันหมดทำให้ง่ายต่อการแชร์งาน หรือส่งต่อไฟล์งาน

อีกหนึ่งสกิลพื้นฐานที่สำคัญไม่แพ้กันสำหรับตำแหน่ง Multimedia Designer คือ สกิลการสื่อสารเพราะเราต้องทำงานร่วมกับทีมอื่น เราไม่สามารถ Design ตามใจชอบได้ ต้องมีการพูดคุยกันก่อนจะเริ่ม Design ว่าอยากให้ Design ไปในทิศทางไหน โดยหลัก ๆ แล้วทีมเราจะรับบรีฟจากทีม Creative และทีม Marketing หลังจากนั้นก็นำเนื้อหาทั้งหมดมาตีความเพื่อทำเป็น Artwork และขั้นตอนหลังจากที่ออกแบบ Artwork เสร็จจะเป็นการรีวิวและ Feedback ขั้นแรก จะรีวิวและ Feedback กันเองในทีมก่อน จากนั้นก็จะส่งต่อให้ทีม Creative หรือทีม Marketing เป็นคนรีวิว Feedback เพื่อจบงาน โดยจะเห็นได้ว่าเราต้องคุยกันตลอดขั้นตอนการทำงานตั้งแต่รับบรีฟจนจบงาน


มาถึงตรงนี้หลายคนก็คงจะอยากรู้แล้วว่าโอกาสเติบโตของสายงานนี้มันจะไปในทิศทางไหนได้บ้าง ซึ่งสำคัญกับการทำงานมาก ๆ เพื่อให้เรามีเป้าหมายในการทำงานต่อไป

 

Career Path ของตำแหน่ง Multimedia Designer

Multimedia Designer มีโอกาสเติบโตไปเป็น Senior Multimedia Designer ซึ่งต้องมีความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบ และการใช้โปรแกรมออกแบบ สามารถจบงานได้ด้วยตัวเอง หรือสามารถ Feedback งานให้กับคนอื่น ๆ ในทีมได้ และ Multimedia Designer ยังสามารถย้ายไปตำแหน่ง UX/UI Designer ได้ตามความสามารถ

แต่โดยส่วนตัวผมแล้วเป้าหมายในการทำงานของผมคือ ตั้งใจออกแบบ Artwork ทุกชิ้นให้ดีที่สุดเพื่อ Support แบรนด์ให้ไปถึงสิ่งที่ตั้งเป้าหมายไว้ และการโฟกัสเรื่องความสุขในการทำงานสำหรับผมถือว่าสำคัญมาก เพราะงาน Design เป็นงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน แล้วการทำงานแบบ Work from Anywhere เป็นหนึ่งในรูปแบบการทำงานที่ทำให้ผมมีความสุขกับงานมากขึ้นซึ่งผมจะเล่าในหัวข้อต่อไป

 

ทำงานจากที่ไหนก็ได้ ทำได้จริงที่ THiNKNET

ก่อนที่ผมจะเข้ามาทำงานที่ THiNKNET ที่มีรูปแบบการทำงานเป็น Work from Anywhere ผมเคยทำงานทั้งแบบ Work from Home กับทำงานแบบเข้าออฟฟิศมาก่อน ทำให้ไม่มีอะไรต้องปรับตัวมาก ช่วงแรกอาจจะต้องเรียนรู้โปรแกรมที่ใช้สำหรับประชุมงาน หรือ Daily Meeting ในช่วงเช้า และเรื่องวิธีการส่งงานผ่านออนไลน์ ซึ่งมีพี่ ๆ ในทีมคอยสอนทำให้เรียนรู้ได้ไม่ยาก

หลังจากที่ได้ทำงานแบบ Work from Anywhere ผมก็มีเวลาเพิ่มมากขึ้น มีเวลาไปออกกำลังกาย เล่นเกมส์ ไปเจอเพื่อน ทำให้ความสุขในการทำงานเพิ่มมากขึ้นแบบที่ผมตั้งเป้าหมายไว้ ที่สำคัญภายในทีมเราก็ให้ความสำคัญกับเรื่องความสุขในการทำงาน การปฏิสัมพันธ์ และการทำงานกันเป็นทีมด้วย ซึ่งในทุก ๆ วันทีมเราจะมี Topic ที่น่าสนใจมาแชร์และพูดคุยกัน โดยให้ทุกคนในทีมพิมพ์ Topic ที่ตัวเองสนใจลงในกลุ่มแล้วทำการสุ่ม Topic เพื่อเพิ่มความสนิทสนมกันภายในทีม

ส่วนการเข้าออฟฟิศทีมเราจะมีนัดกันเข้าแค่เดือนละ 1-2 ครั้ง เพื่อมากินข้าวมาเจอหน้ากัน เนื่องจากแต่ละคนในทีมอยู่กันหลายจังหวัด ทำให้เดินทางมาทำงานลำบาก

 

คำแนะนำสำหรับคนที่อยากทำตำแหน่งนี้

สุดท้ายแล้วผมอยากจะบอกต่อคนที่สนใจอยากเป็น Multimedia Designer ทุกคน สิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ เลยก็คือ Portfolio ต้องดีเพราะเป็นด่านแรกของโอกาสที่จะได้งาน ไม่ว่าจะทำเป็น Freelance หรืองานประจำ Portfolio จะบ่งบอกถึงตัวตน และความสามารถของเรา ซึ่งการทำ Portfolio จะต้องเรียงลำดับความสำคัญให้ดีว่าควรเอาอันไหนไว้หน้าแรกอันไหนไว้หน้าหลัง ใส่เฉพาะผลงานที่จำเป็นให้ตรงกับ Job Description เท่านั้นที่สำคัญคือตัวอักษรหรือ Font จะต้องอ่านง่าย 


จบไม่ตรงสายสามารถทำได้ไหม?

บอกเลยว่าทำได้เพราะตัวผมเองก็ไม่ได้เรียนจบด้านนี้มาก่อน ผมเรียนจบคณะบริหารธุรกิจแล้วมารู้ตัวว่าตัวเองชอบทำ Graphic ตอนเรียนอยู่ปี 3 เพราะได้ทำสไลด์ตอนพรีเซนต์งาน กับทำเพจเฟสบุ๊คกับเพื่อน ๆ โดยใช้โปรแกรม Adobe Photoshop และฝึกฝนมาเรื่อย ๆ จากการดู YouTube แล้วลองทำตาม กับเปิดดูงานคนอื่นเยอะ ๆ หลังจากนั้นก็เริ่มทำ Portfolio เพื่อสมัครงาน

เพราะฉะนั้นใครที่กำลังฝึกอยู่และคิดว่าตัวเองชอบสายงาน Graphic จริง ๆ ลุยเลยครับ เพราะสายนี้ไม่จำเป็นต้องจบตรงสายขอแค่ฝึกฝนเยอะ ๆ หาสไตล์งานตัวเองให้เจอ แต่ถ้าคิดว่าตัวเองพร้อมแล้วก็สมัครได้ ที่นี่

 

ทำความรู้จักตำแหน่งอื่น ๆ ใน THiNKNET ทั้งหมดได้ ที่นี่

tags : multimedia designer thinknet lifeatthinknet work from home work from anywhere ทำงานที่ไหนก็ได้ multimedia designer คือใคร งาน multimedia designer thinknet employees



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email