งานสายออกแบบนั้นถือเป็นอีกหนึ่งตำแหน่งงานสำคัญที่หลาย ๆ บริษัทจะขาดไปไม่ได้เลย เพราะไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไร การทำ Artwork เพื่อโปรโมตสินค้า ออกแบบโลโก้ หรือดีไซน์ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ก็ล้วนต้องอาศัยดีไซเนอร์ทั้งนั้น วันนี้เราเลยอยากพาทุกคนมาพูดคุยและทำความรู้จักกับ ‘อาย’ Multimedia Designer น้องใหม่ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ THiNKNET ในช่วง Work from Anywhere ทำให้อายไม่เพียงแต่ต้องออกแบบงานกราฟิกและโมชันต่าง ๆ เท่านั้น แต่ได้ออกแบบการทำงานของตัวเองในช่วงนี้ด้วย
แนะนำตัว ชื่ออะไร ทำงานตำแหน่งอะไร และทำมานานแค่ไหนแล้ว?
สวัสดีค่ะ ชื่ออาย ทำงานตำแหน่ง Multimedia Designer มาได้ 1 ปีแล้วค่ะ
หน้าที่รับผิดชอบในตำแหน่งงานนี้ต้องทำอะไรบ้าง?
ทำ Artwork ลงสื่อโซเชียลมีเดีย ทำ Motion Graphic และซัพพอร์ต UX/UI
ตำแหน่งที่ทำอยู่ต้องใช้ทักษะอะไรบ้าง ทั้ง Hard Skills และ Soft Skills?
Hard Skills ที่ต้องใช้คือทักษะในด้านการออกแบบ Graphic Design และ Motion Graphic ส่วน Soft Skills ที่ต้องใช้คือความคิดสร้างสรรค์ (Creativity), ทักษะการทำงานร่วมกันเป็นทีม (Teamwork), มีความยืดหยุ่น (Flexibility) สามารถปรับวิธีการทำงานให้กับเข้ากับเพื่อนในทีมได้ แล้วก็ต้องมีความรับผิดชอบ (Responsibility) จัดการงานที่ได้รับมอบหมายและทำให้เสร็จตามเวลาที่กำหนด
ทักษะที่สำคัญที่สุดของการทำงานตำแหน่งนี้คือ Creativity เพราะในการออกแบบงานแต่ละชิ้นต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก
มีปัญหาเรื่อง Skill Gap บ้างไหม ถ้ามี มีเทคนิคยังไงในการพัฒนาทักษะที่ไม่ถนัดเหล่านั้น?
มีค่ะ ใช้วิธีศึกษาเพิ่มเติมจาก Youtube กับ Google หรือถามเพื่อนในทีมที่ถนัดในด้านนั้น ๆ อย่างในช่วงที่ผ่านมาก็ได้เรียนรู้เทคนิคการทำ Motion Graphic จากคลาสที่เพื่อนในทีมสอนด้วยค่ะ
Skill หรือสิ่งที่ได้จากการทำงานและสามารถเอาไปต่อยอดให้กับตัวเองได้ มีอะไรบ้าง ต่อยอดยังไง?
Skill ที่สามารถเอาไปต่อยอดได้ก็จะมีเรื่องของการเลือกโทนสี Mood and Tone การสร้างองค์ประกอบหลักที่เป็นจุดเด่นของงาน และสร้างองค์ประกอบรองเพื่อเสริมให้งานของเราดูมี Contrast และสมดุลมากขึ้นค่ะ ซึ่งเรานำไปใช้ต่อยอดกับงานอดิเรกอย่างการวาดรูปได้ ปกติช่วงไหนว่าง ๆ ก็จะวาด Fanart หรือ Cartoon Character บ้าง ซึ่งทักษะพวกนี้ก็จะช่วยทำให้งานออกมาลงตัวและมีเอกลักษณ์มากขึ้น
ส่วนตัวเป็นคนที่มีสไตล์การทำงานเป็นยังไง?
ชอบทำงานเงียบ ๆ และฟังเพลงหรือฟัง Podcast ไปด้วย ทำให้ไม่เครียดจนเกินไป ปกติทำงานที่บ้านมากกว่าออกไปทำงานข้างนอก เพราะการทำงานที่บ้านทำให้มีสมาธิในการทำงานมากขึ้น
เมื่อได้ Work From Anywhere (WFA) ตารางเวลาชีวิตเปลี่ยนไปยังไงบ้าง สิ่งที่ชอบในการ WFA คืออะไร?
ตารางเวลาเปลี่ยนไปตรงที่ไม่ต้องรีบตื่นเช้าเพื่อเดินทางไปออฟฟิศ สามารถแบ่งเวลาไปทำงานอดิเรกได้มากขึ้น เช่น ดูหนัง เล่นเกม ทำอาหาร ออกกำลังกาย เล่นกับสัตว์เลี้ยง สิ่งที่ชอบในการ WFA คือสามารถเดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัดได้บ่อยกว่าเดิม มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น
คิดว่าการ WFA มีส่วนช่วยสร้าง Passion ในการทำงานให้เรายังไง?
WFA มีส่วนช่วยสร้าง Passion ในการทำงานให้เรามากขึ้น เนื่องจากเราสามารถจัดสรรเวลาในการทำงานให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของเราได้
จากเดิมที่เคยทำงานที่ออฟฟิศมา พอเปลี่ยนมาทำงานแบบ WFA แล้วมีความท้าทายยังไงบ้าง?
ท้าทายตรงที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็นแบบออนไลน์ทั้งหมด ทำให้ต้องเรียนรู้โปรแกรมและแอปพลิเคชันที่ใช้ในการอัปเดตสถานะการเข้า-ออกงาน ส่งงาน และสื่อสารกับเพื่อนในทีม
มีความคิดเห็นยังไงกับคำกล่าวที่ว่า “สิ่งแวดล้อมและบรรยากาศของการทำงานมีผลต่อความคิดสร้างสรรค์” คิดว่าการ WFA ทำให้การทำงานดีขึ้นหรือไม่?
คิดว่าสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศของการทำงานมีผลต่อความคิดสร้างสรรค์จริง ถ้าเราอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี เราก็จะคิดอะไรได้หลากหลายและทำงานออกมาได้ดีกว่าอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี การ WFA ช่วยในเรื่อง Work-life Balance เพราะสามารถจัดการตารางการใช้ชีวิตในแต่ละวันได้
พอทำงานแบบ WFA การเรียนรู้งานในช่วงทดลองงานเป็นยังไงบ้าง ภายในทีมให้คำแนะนำการทำงานยังไงบ้าง และเราต้องปรับตัวมากไหม?
พี่ ๆ ในทีมจะสอนตั้งแต่การเข้างาน ช่องทางการส่งงานต่าง ๆ และงานที่เราจะต้องทำ ซึ่งแต่ละคนในทีมจะมีความถนัดไม่เหมือนกัน ถ้าเราไม่เข้าใจตรงไหนก็จะมีเพื่อนช่วยสอนงานนั้น ๆ ให้ ใช้เวลาประมาณ 1 เดือนในการปรับตัวถึงพอเข้าใจลักษณะงานที่ต้องทำ
ถ้ารู้สึกเหนื่อย หรือเหงา มีวิธีการสร้าง Passion ในการทำงานให้ตัวเองยังไง?
พักไปฟังเพลง ดูหนัง ออกไปสูดอากาศ เปลี่ยนสถานที่ทำงาน หรือลองทำงานอะไรใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำเพื่อเพิ่มความท้าทายในการทำงานมากขึ้น
เมื่อทำงานแบบ WFA ที่ต้องเปลี่ยนมาติดต่อสื่อสารกันแบบออนไลน์ มีอุปสรรคหรือปัญหาอะไรในการทำงานบ้าง แล้วจัดการหรือแก้ไขกับอุปสรรคนั้นยังไง?
พอต้อง WFA การส่งงานก็อาจตกหล่น หรือสื่อสารกับคนอื่น ๆ ไม่เข้าใจบ้าง แต่แก้ไขได้ด้วยการพูดคุยกันให้ชัดเจน หากมีข้อสงสัยให้ถามทันที ส่วนตัวถ้าเกิดปัญหากับงานก็จะทักไปสอบถามกับเพื่อนในทีม หรือ Video Call กันเพื่อให้เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นเลย งานก็จะเสร็จเร็วขึ้น ถ้าไม่ถามก็อาจเกิดความเข้าใจผิดระหว่างกันและต้องเสียเวลาทำงานซ้ำซ้อน
มีกิจกรรมหรือวิธีการทำงานอะไรในทีมหรือของบริษัทบ้างไหมที่ทำให้สนิทสนม กับเพื่อนร่วมงานมากขึ้น?
ในทีมจะมีการเสนอหัวข้อต่าง ๆ ที่จะพูดคุยกันในแต่ละวัน เช่น งานอดิเรกที่ชอบทำ แนะนำหนังที่ชอบ ทำให้ได้พูดคุยและรู้จักกันมากขึ้น
การ WFA ทำให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานแบบทีมเวิร์กยังไงบ้าง?
ได้เรียนรู้ว่าการสื่อสารและพูดคุยกับคนในทีมสำคัญมาก เพราะว่าเราทำงานต่างสถานที่กัน ไม่ได้เจอกัน ถ้าเกิดปัญหาในการทำงานแล้วไม่ได้พูดคุยกันก็ยากที่จะทำงานร่วมกันได้
นโยบาย WFA มีผลต่อสวัสดิการที่บริษัทมอบให้หรือคิดว่าตอบโจทย์การใช้ชีวิตในปัจจุบันไหม?
มีผล เนื่องจากทางบริษัทไม่ได้มีสวัสดิการค่าเดินทางให้ นโยบาย WFA เลยตอบโจทย์ เพราะพอทำงานที่บ้านก็ไม่ต้องเสียค่าเดินทางไปทำงาน ไม่ต้องเสียสุขภาพจิตกับการเดินทางที่ต้องเจอรถติด ช่วยลดเวลาและประหยัดค่าใช้จ่าย ทำให้การใช้ชีวิตสบายมากขึ้น
พอได้ทำงานจริงกับที่นี่ รู้สึกยังไงบ้าง เหมือนที่เคยคิดไว้ไหม?
มีสวัสดิการเยอะกว่าที่คิดไว้ สามารถเบิกอุปกรณ์ไปใช้ทำงานที่บ้านได้ ไม่ว่าจะเป็น Macbook จอมอนิเตอร์ เก้าอี้ทำงาน มีอิสระในการทำงานสามารถทำงานที่ไหนก็ได้
ถ้าจะให้นิยามการทำงานที่ THiNKNET จะนิยามว่ายังไงดี?
การทำงานแบบ Work-life Integration มองหาตรงกลางระหว่างการทำงานและเวลาส่วนตัว เน้นการจัดสรรเวลา ไม่ว่าจะเป็นเวลาพักผ่อนหรือเวลาทำงานให้สามารถเข้ากับไลฟ์สไตล์ของเราที่สุด
ช่วยเล่า Moment หรือประสบการณ์การทำงานที่ประทับใจให้ฟังหน่อย?
ช่วงคริสต์มาสมีการจัดกิจกรรมแลกของขวัญกันภายในทีม ถึงจะไม่ได้เจอกันแต่ก็ส่งของไปแลกกันได้ ก็เลยมีช่วงเวลาที่ได้พูดคุยกัน ทำให้สนิทกับเพื่อนในทีมมากขึ้น
มาถึงตรงนี้ หลาย ๆ คนก็คงเห็นภาพแล้วว่าการทำงานแบบ Work from Anywhere ในตำแหน่ง Multimedia Designer ที่ THiNKNET นั้นเป็นยังไง ซึ่งตอนนี้บริษัทของเราก็กำลังมองหานักออกแบบหน้าใหม่มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดีไซน์ผลิตภัณฑ์เจ๋ง ๆ อยู่ ใครที่สนใจอยากทำงานสายกราฟิกสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ ที่นี่ หรือถ้าอยากดูตำแหน่งงานอื่น ๆ ก็สามารถกดเข้าไปดูได้ ที่นี่