คุยเรื่อง Data from Anywhere กับเฟิร์ส Data Engineer จาก THiNKNET

คุยเรื่อง Data from Anywhere กับเฟิร์ส Data Engineer จาก THiNKNET
08/07/22   |   4.1k

การจะสร้างแพลตฟอร์มหรือบริการอะไรสักอย่าง หนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ Data หรือข้อมูล เพื่อการทำรีเสิร์ช วิเคราะห์ และใช้ข้อมูลเหล่านั้นมาทำให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ซึ่งการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่มหาศาลจะยุ่งยากมั้ยถ้าต้องทำจากที่บ้าน วันนี้เราเลยอยากพาทุกคนมาคุยกับ เฟิร์ส ณัฐวุฒิ ดำเนินภัณฑ์ Data Engineer น้องใหม่ของ THiNKNET ที่เพิ่งเข้ามาร่วมงานในจังหวะที่ทุกคนกำลัง Work from Anywhere กัน

 

ชื่ออะไร ทำงานตำแหน่งอะไร และทำมานานแค่ไหนแล้ว?

ชื่อนายณัฐวุฒิ ดำเนินภัณฑ์ ชื่อเล่น เฟิร์ส ตอนนี้ทำงานตำแหน่ง Data Engineer ระยะเวลาในการทำงานปัจจุบัน 11 เดือนแล้วครับ 

 

หน้าที่รับผิดชอบในตำแหน่งงานนี้ต้องทำอะไรบ้าง?

หน้าที่รับผิดชอบตอนนี้คือการจัดเตรียมข้อมูล, วิเคราะห์ข้อมูล และสร้าง Service โดยใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์ครับ

 

ตำแหน่งที่ทำอยู่ต้องใช้ทักษะอะไรบ้าง ทั้ง Hard Skills และ Soft Skills?

Hard Skills 

  • สถิติ ต้องมีความเข้าใจและสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับข้อมูลให้เกิดประโยชน์ได้ ต้องมีความคุ้นเคยกับ Distribution Curves, Probability หรือ Standard Deviation เพื่อที่จะสามารถเก็บรวบรวม (Collect), เรียบเรียง (Organize), วิเคราะห์ (Analyze), ทำความเข้าใจ (Interpret) และนำเสนอ (Present) ข้อมูลได้

  • คณิตศาสตร์ โดยเฉพาะเรื่องของ Multivariable Calculus และ Linear Algebra เพื่อให้สามารถนำความเข้าใจเหล่านั้นมาใช้กับการ Optimize Fitting Function ที่นำไปใช้กับ Model ได้

  • Programming ต้องสามารถนำความรู้และเสนอ Concept ออกมาในรูปแบบของ Program หรือ Code ได้ โดยส่วนตัวแล้วจะใช้ Python เป็นภาษาหลักที่ใช้ในการเขียนโปรแกรม

  • Machine Learning and Predictive Modeling ต้องสามารถนำข้อมูลมาใช้ทำนายหรือสร้าง Model ได้

  • Data Preparation โดยเป็นหน้าที่หลักของ Data Engineer จะเป็นการจัดการเรื่องของการจัดเก็บ และ เตรียมข้อมูล เพื่อที่จะให้ข้อมูลนั้น ๆ มีความพร้อมที่จะนำไปใช้ได้

  • Data Visualization ต้องมีความสามารถในการนำเสนอและเล่าเรื่องโดยใช้ข้อมูล เพื่อให้เห็นถึงจุดหรือนัยยะสำคัญ 

  • การทำ Visualization กระบวนการหลักที่ช่วยให้การนำเสนอนั้นง่ายและมีประสิทธิภาพ โดยจะใช้ Tools หลักได้แก่ Python Matplotlib และ Google Data Studio

  • ทักษะด้านภาษา ในที่นี้พูดถึงภาษาอังกฤษ เนื่องจากเป็นภาษาที่สำคัญที่ใช้ในการค้นหาความรู้หรือค้นหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่พบระหว่างการทำงาน ภาษาอังกฤษจึงเป็นทักษะที่ขาดไม่ได้ของตำแหน่งนี้

Soft Skills

  • Business Knowledge ต้องมีความเข้าใจในด้านของ Business ขององค์กรทั้งด้านของ Product และ Service เพื่อให้สามารถสร้างหรือค้นหาแนวทางที่จะใช้ข้อมูลได้

  • ทักษะการแก้ปัญหา ระหว่างการทำงานนั้นไม่ว่าจะเป็นด้านการจัดการหรือวิเคราะห์ข้อมูล มักพบเจอปัญหาที่เกี่ยวข้องการการวิเคราะห์เชิงธุรกิจหรือทางเทคนิค ทักษะนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่ต้องมีเพื่อที่จะสามารถดำเนินงานได้อย่างไม่ติดขัด

  • ทักษะการสื่อสารและทำงานร่วมกันในทีม ต้องมีความสามารถในการสื่อสารกันทั้งระหว่างภายในทีมและระหว่างทีมต่าง ๆ จำเป็นต้องสื่อสารข้อมูลให้กับคนอื่น ๆ ได้

 

มีโอกาสใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานยังไงบ้าง?

ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการวิเคราะห์ข้อมูลในแง่มุมต่าง ๆ รวมถึงคิดถึงวิธีในการแก้ปัญหาที่พบ

 

มีปัญหาเรื่อง Skill Gap บ้างไหม ถ้ามี มีเทคนิคยังไงในการพัฒนาทักษะที่ไม่ถนัดเหล่านั้น?

ในช่วงที่เข้าทำงานแรก ๆ นั้น มี Skill Gap ในเรื่องของ Tools ที่ใช้ในการทำงานเช่นเรื่องของการใช้ Data Studio, Tag Manager การแก้ปัญหาก็ใช้วิธีศึกษาด้วยตนเองร่วมกับขอความช่วยเหลือจากในทีมเพื่อช่วยสอนการใช้ Tool นั้น ๆ

 

นอกจากเรื่อง Skill Gap แล้ว ในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการพัฒนาตัวเองในเรื่องไหนอีกบ้าง เพื่อทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพดีขึ้น และทำวิธีไหน?

มีการพัฒนาเรื่องของ ทักษะในการ Coding เช่น

  • การเขียนแบบ Object Oriented Programming (OOP) 

  • การเขียน Test ทั้ง Unit Test, Integration Test และ Load Test

  • Stack ต่าง ๆ เช่น gRPC, Pyscript, Grafana รวมไปถึงการสร้างและเผยแพร่ Python Module

โดยการเรียนรู้ก็ใช้วิธีการเรียนรู้ด้วยตัวเองร่วมกับการสอบถามคนในทีมกรณีที่เกิดคำถามที่หาคำตอบเองไม่ได้ เทคนิคคือ หาสื่อการสอนหรือตัวอย่างการทำโดยใช้ภาษาอังกฤษ เนื่องจากความรู้ที่เราต้องการจะเรียนรู้ไม่ว่าจะในด้าน Programming หรือด้านทั่ว ๆ ไป ในภาษาอังกฤษนั้นจะมีข้อมูลที่ครอบคลุมและเข้าใจง่ายกว่า ภาษาไทยส่วนใหญ่แล้วจะถูกแปลจากภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทยอีกทีหนึ่งครับ

 

ส่วนตัว เป็นคนที่มีสไตล์การทำงานเป็นยังไง?

ชอบการทำงานเงียบ ๆ ทำให้ตัวเองมีสมาธิในการทำงานครับ

 

เมื่อได้ Work from Anywhere (WFA) ตารางเวลาชีวิตเปลี่ยนไปยังไงบ้าง เรารู้สึกยังไง ที่บริษัทไม่ได้จำกัดสถานที่ทำงาน?

ตารางชีวิตที่เปลี่ยนไปคือมีเวลานอนที่มากขึ้น และโดยส่วนตัวนั้นทำให้มีเวลาที่ใช้กับเรื่องส่วนตัวของชีวิตมากขึ้น เพราะไม่ต้องเสียเวลาไปกับการเดินทางไปกลับจากสถานที่ทำงาน และมีส่วนช่วยลดการ Burnout จากการเดินทางด้วย เพราะส่วนตัวแล้วไม่ชอบการเดินทางครับ

 

จากเดิมที่เคยทำงานที่ออฟฟิศมา พอเปลี่ยนมาทำงานแบบ WFA ยากไหม?

เปลี่ยนมาทำ WFA นั้นไม่ยาก เนื่องจากส่วนตัวมีประสบการณ์ใช้เครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสาร (MS Teams, Discord) กันอยู่แล้ว ทำให้ไม่ต้องปรับตัวมากนัก แต่มีสิ่งที่ควรระวังคือเรื่องของ Internet Connection ที่ควรจะมีความสเถียรและอย่างน้อยควรมี Cellular Internet ไว้เป็น Back Up เผื่อกรณีที่ WIFI ในสถานที่เราไปทำงานนั้นเกิดปัญหา

 

มีความคิดเห็นยังไงกับคำกล่าวที่ว่า “สิ่งแวดล้อมและบรรยากาศของการทำงานมีผลต่อความคิดสร้างสรรค์” 

จากประสบการณ์การทำงานที่บ้านพบว่าตัวเองมีสมาธิมากขึ้นและทำให้เกิดผลดีต่อ Productivity

 

พอทำงานแบบ WFA การเรียนรู้งานในช่วงทดลองงานเป็นยังไงบ้าง ทีมมีวิธีการสอนงาน พร้อมให้คำแนะนำการทำงานยังไงบ้าง และเราต้องปรับตัวมากไหม?

ในช่วงวันแรก ๆ ของการทำงาน ได้มีทีม ITS มาช่วย Set Up เครื่องและช่วยสอนและตอบคำถามต่าง ๆ ที่สงสัย และเรื่องของการทำงานในทีม กรณีที่ต้องการคำแนะนำสามารถทักไปถามผ่านทาง MS Teams หรือผ่านทาง Discord ได้ โดยจะใช้ Screen Sharing เป็นตัวช่วยในการระบุจุดที่สงสัยหรือนำมาแสดงให้ดูเป็นแบบอย่างได้ การปรับตัวนั้นใช้เวลาไม่มาก ภายในอาทิตย์แรกที่ได้ทำงานก็สามารถปรับตัวทำแบบ WFA ได้อย่างไม่มีปัญหา

 

เมื่อทำงานแบบ WFA บรรยากาศในการทำงานกับคนอื่น ๆ เป็นยังไง การติดต่อสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานยากไหม และมีผลต่อความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานรึเปล่า?

บรรยากาศในการทำงานแบบ WFA ดีครับ เพื่อนร่วมทีมและเพื่อนต่างทีมมีความเฟรนด์ลี่ การทำงานร่วมกับในทีมจะใช้ Discord และ MS Teams ในการสื่อสารเป็นหลัก ส่วนการสื่อสารก็ไม่ยากครับ เนื่องจากเราสามารถ Search ชื่อและพูดคุยและติดต่อกันได้ทันทีผ่าน MS Teams การที่ไม่เห็นหน้าเพื่อนร่วมงานนอกแผนก ก็ทำให้ลดโอกาสที่จะได้คุยและปฎิสัมพันธ์กันลงไปบ้าง แต่ว่าไม่ส่งผลต่อความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานในแผนก เนื่องจากมีการสื่อสารกับคนในทีมที่บ่อยมากกว่า ก็จะมีความสนิทและใกล้ชิดที่มากกว่า

 

เวลามีปัญหาเกิดขึ้นระหว่างการทำงาน การที่เรา WFA ทำงานอยู่คนเดียว ส่งผลต่อการทำความเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น และการแก้ไขปัญหาไหม?

ไม่ส่งผลเลยครับ เนื่องจากระหว่างการทำงาน ทีมจะอยู่ใน Discord ห้องเดียวกัน ทำให้เหมือนกับการทำงานที่ออฟฟิศที่สามารถถามได้ทันทีถ้าเรามีคำถาม

 

มีกิจกรรมหรือวิธีการทำงานอะไรในทีมหรือของบริษัทบ้างไหมที่ทำให้รู้จัก สนิทสนม คุ้นเคยกับเพื่อนร่วมงานมากขึ้น หรือช่วยให้ WFA ง่ายขึ้น?

มีกิจกรรมที่จัดขึ้นในเดือนแรกที่ได้เข้าทำงาน โดยจะจัดช่วงเวลาวันหนึ่งของแต่ละสัปดาห์ ให้มาทำกิจกรรมร่วมกันกับพนักงานเข้าใหม่ในทีมต่าง ๆ เช่น gatric.io หรือเกมต่าง ๆ ทำให้สนิทสนมกันมากขึ้น และในทีมตัวเองจะมีกิจกรรมเดือนละครั้ง และมีการรวมตัวกันทำงานที่ออฟฟิศทำให้เห็นหน้าและสนิทกันมากขึ้น

 

นโยบาย WFA มีส่วนที่ช่วยอำนวยความสะดวกต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของตนเองยังไงบ้าง? 

  • ด้านสุขภาพ ตัดความเสี่ยงเรื่องของโอกาสการติดเชื้อไวรัส COVID-19 และมลภาวะทางอากาศ ที่ต้องพบเจอเมื่อออกไปทำงานข้างนอก และยังตอบโจทย์การใช้ชีวิตของตัวเองที่ไม่ชอบเดินทาง 

  • ด้านค่าใช้จ่าย การทำงานที่บ้านทำให้ลดค่าใช้จ่ายทั้งด้านที่พักและการเดินทาง

  • ด้านคุณภาพชีวิต มีเวลาใช้ชีวิตส่วนตัวมากขึ้นไม่เสียเวลาหลายชั่วโมงไปกับการเดินทาง

 

พอได้ทำงานจริงกับที่นี่ รู้สึกยังไงบ้าง เหมือนหรือต่างจากที่คิดไว้ยังไง?

เหมือนกับที่เคยคิดไว้ คือมีความยืดหยุ่นและอิสระ ถ้าจะให้นิยามการทำงานที่ THiNKNET จะนิยามว่า Flexible and Effective ครับ

 

หลายคนน่าจะเห็นภาพแล้วว่าการทำงานแบบ Work from Anywhere ในฐานะ Data Engineer ที่ THiNKNET เป็นยังไงบ้าง และในตอนนี้ทางบริษัทก็กำลังมองหาเพื่อนร่วมงานสายเทคหน้าใหม่ ที่มีความสามารถและมีทักษะที่เหมาะสมมาร่วมสร้างสรรค์โปรดักส์ต่าง ๆ ไปด้วยกัน สามารถเข้าไปดูตำแหน่งงานที่เปิดรับได้ ที่นี่

tags : thinknet การทำงาน work from anywhere wfa data engineer how we work work at thinknet



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email