การฝึกงานนั้นถือเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่น้อง ๆ นิสิต/นักศึกษาจะได้เรียนรู้การทำงานจริง พัฒนาทักษะในสายอาชีพที่ตนเองสนใจ และเก็บประสบการณ์ซึ่งสามารถนำไปใส่ในเรซูเม่สำหรับสมัครงานในอนาคตได้ ดังนั้นยิ่งได้ฝึกงานที่ได้ลงมือปฏิบัติจริงมากเท่าไหร่ก็ยิ่งได้ประสบการณ์มากขึ้นเท่านั้น วันนี้เราเลยอยากชวนทุกคนมาพูดคุยกับจ๊อป นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่มาฝึกงานตำแหน่ง Software Engineer กับ THiNKNET ในรูปแบบ Work from Anywhere แล้วการฝึกงานครั้งนี้จะติดขัดอะไรไหม ได้ลงมือทำงานและเรียนรู้อะไรกลับไปตามที่คาดหวังไว้รึเปล่า จ๊อปจะมาแชร์ให้เราได้รู้กัน
แนะนําตัว ชื่ออะไร เรียนคณะและมหาวิทยาลัยอะไร ชั้นปีไหน
ชื่อ น.ส.ณฐมน พลวิชัย ปัจจุบันเรียนอยู่ชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาฝึกงานช่วงปิดเทอมปี 3 ขึ้นปี 4 ค่ะ
ฝึกงานที่นี่ได้รับผิดชอบงานส่วนไหนบ้าง กระบวนการทํางานเป็นยังไง เล่าให้ฟังหน่อย
การฝึกงานครั้งนี้ได้รับผิดชอบในส่วนของฟีเจอร์สถิติการใช้งานบางอย่างในแพลตฟอร์ม JobThai ซึ่งเป็นระบบที่ทีม Customer Service ใช้งานโดยตรง และสามารถ Export สถิติออกมาในรูปแบบไฟล์ Excel ได้ค่ะ
ภายในทีมจะประกอบด้วยเพื่อน ๆ ที่มาฝึกงานด้วยกันรวม 4 คน และมีพี่ ๆ ดูแลการฝึกงานอีก 2 คน โดยทุกคนจะช่วยกันวางแผนและออกแบบงานร่วมกัน จากนั้นพอถึงส่วนของการ Implement ก็จะแบ่ง Task กันไปดูแล ซึ่งก็มี Task ในส่วนของ ETL Script, Backend Service, API Gateway, และ Frontend เสร็จแล้วทุกคนก็จะมารีวิวโค้ดร่วมกันอย่างทั่วถึงค่ะ
ได้เรียนรู้อะไรจากการฝึกงานที่นี่บ้าง ทั้ง Hard Skills และ Soft Skills
ด้าน Hard Skills ได้เรียนรู้การใช้ Framework และเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ในการทำงานจริงของ Software Engineer เช่น NextJS, Express, GraphQL ส่วน Soft Skills ที่ได้เรียนรู้จะเป็นทักษะด้านการติดต่อสื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน การออกความคิดเห็น การให้ Feedback กับเพื่อน แล้วก็มีทักษะความเป็นผู้นำกับทักษะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าค่ะ
การฝึกงานในตำแหน่ง Software Engineer มีช่วงที่ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทํางานบ้างไหม
มีช่วงพูดคุยแลกเปลี่ยนไอเดียกันในทีมค่ะ ช่วงนั้นจะได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการเสนอ Solution ต่าง ๆ สำหรับ Requirement ที่ได้รับมา
มีปัญหาเรื่อง Skill Gap บ้างไหม ถ้ามี มีเทคนิคยังไงในการพัฒนาทักษะที่ไม่ถนัดเหล่านั้น
มีไม่มาก เวลาที่ติดปัญหาหรือมีเรื่องที่ยังไม่เข้าใจ ก็จะค้นหาข้อมูลหรือ Documentation และถามเพื่อน ๆ พี่ ๆ ในทีม ซึ่งช่วยให้เข้าใจได้เร็วขึ้นมากทีเดียว
ในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการพัฒนาตัวเองยังไงบ้าง เพื่อทําให้การทํางานมีประสิทธิภาพดีขึ้น
เรียน Bootcamp ของทางบริษัทและศึกษาเพิ่มเติมทาง Youtube หรือ Documentation รวมไปถึงได้ลองทำโปรเจกต์เล็ก ๆ เองแบบ Full Stack เพื่อทบทวนความเข้าใจในเนื้อหาทั้งหมด
ส่วนตัวเป็นคนที่มีสไตล์การทํางานเป็นยังไง
มักจะนั่งทำงานเองคนเดียวในที่เงียบ ๆ ไม่มีคนรบกวน เน้นใช้ความคิดกับตัวเอง ถามคนอื่นเมื่อมีเรื่องสงสัยหรือต้องการให้ช่วยเหลือ
รู้สึกยังไงที่บริษัทไม่ได้จํากัดสถานที่ทํางาน สิ่งที่ชอบในการ WFA คืออะไร
รู้สึกสะดวกดีค่ะ เพราะสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน นอกบ้าน หรือที่ออฟฟิศ ไม่จำเป็นต้องทำงานอยู่ที่เดิมเสมอไป มีความยืดหยุ่นในการวางแผนเดินทาง
คิดว่าการมีส่วนช่วยสร้าง Passion ในการทํางานให้เรามากน้อยเพียงใด และยังไง
มีส่วนบ้าง เพราะการช่วยให้ไม่ต้องเดินทาง ซึ่งในหลาย ๆ ครั้งการเดินทางก็ทำให้เหนื่อยได้ และส่วนตัวรู้สึกว่าการทำการงานแบบเหมาะกับเวลาที่ต้องทำ Task ประเภทนั่งคิดคนเดียวด้วยค่ะ แต่ในขณะเดียวกันการต้องติดต่อกับคนอื่น ๆ ผ่านช่องทางออนไลน์อย่างเดียวก็ทำให้ Passion ลดลงในบางครั้งเหมือนกัน เพราะรู้สึกว่าเวลาทำงานแบบเจอหน้ากันกับทุกคนจะมีบรรยากาศการทำงานที่สนุกกว่า ได้ discuss กันต่อหน้า ถ้าเป็นการทำงานที่ต้องหารือร่วมกัน การเข้าออฟฟิศก็จะเหมาะกว่าค่ะ ถ้าได้เข้าออฟฟิศบ่อยขึ้นอีกนิด สัก 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ สลับกับการ WFA ก็จะตอบโจทย์ที่สุดเลย
ปกติแล้วทํางานที่บ้านหรือออกไปทํางานข้างนอกมากกว่ากัน คิดเห็นยังไงกับคํากล่าวที่ว่า “สิ่งแวดล้อมและบรรยากาศของการทํางานมีผลต่อความคิดสร้างสรรค์”
ปกติทำงานที่บ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สะดวกและคุ้นเคยดีค่ะ ส่วนตัวเห็นด้วยมากว่าสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศมีผลต่อความคิดสร้างสรรค์จริง ๆ ถ้าอยู่ในบรรยากาศที่รู้สึกไม่สบายใจ สมองก็จะไม่แล่นเท่าไรนัก
การฝึกงานกับพี่ ๆ ที่ THiNKNET เป็นยังไง แล้วคิดว่าทํางานแบบ WFA ยากไหม มีความท้าทายยังไงบ้าง
พี่ ๆ และเพื่อน ๆ ให้การสนับสนุนกันดีมาก แม้จะทำงานกันแบบออนไลน์แต่ทีมก็รวมตัวกันอยู่ใน Discord ทำให้เวลามีข้อสงสัยหรือติดปัญหาอะไรก็สามารถถามกันได้เลย การทำงานแบบ WFA มีความท้าทายตรงที่การติดต่อกันเป็นแบบ Asynchronous หรือการติดต่อสื่อสารที่ไม่ใช่การพูดคุยกันต่อหน้าตรง ๆ ทำให้อาจไม่ได้รับคำตอบทันที แต่เพราะที่นี่มีช่องทางในการการติดต่อสื่อสารที่ชัดเจน ดูสถานะคร่าว ๆ ได้ว่าแต่ละคนกำลังพัก ทำงาน หรือประชุมอยู่ ก็เลยช่วยให้ประมาณเวลาและวางแผนได้ดีขึ้น
ถ้ารู้สึกเหนื่อยหรือเหงา มีวิธีการสร้าง Passion ในการทํางานให้ตัวเองยังไง
พักทำสิ่งอื่นให้รู้สึกผ่อนคลายก่อน หรือไม่ก็ออกไปเดินเล่นรับบรรยากาศสบาย ๆ
วิธีการทํางานในทีมและบรรยากาศในการทำงานเป็นยังไง
เวลาทำงาน ทุกคนจะแยกกันทำเพื่อจะได้มีสมาธิโฟกัสกับงานของตัวเอง แต่เมื่อต้อง Discuss หรือปรึกษากันก็มีบรรยากาศการแลกเปลี่ยนไอเดียที่ดี
มีกิจกรรมหรือวิธีการทํางานอะไรในทีมหรือของบริษัทบ้างไหมที่ทําให้รู้จักสนิทสนมคุ้นเคยกับคนในทีมมากขึ้นหรือช่วยให้ WFA ง่ายขึ้น
มีการนัดกันเข้าออฟฟิศค่ะ ซึ่งก็ช่วยให้ได้รู้จักกันมากขึ้นทั้งเพื่อนในทีม นอกทีม และต่างแผนก แล้วก็มีกิจกรรมปฐมนิเทศที่ช่วยให้รู้จักบริษัทมากขึ้นด้วย
การ WFA ทําให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทํางานแบบทีมเวิร์กยังไงบ้าง
ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการออกความคิดเห็นและช่วยกันแก้ไขปัญหาผ่านทางช่องทางออนไลน์
รู้จัก THiNKNET ได้ยังไง ทําไมถึงเลือกฝึกงานที่ THiNKNET แล้วพอได้ทำงานจริงกับที่นี่รู้สึกยังไงบ้าง เหมือนที่เคยคิดไว้หรือต่างจากที่จินตนาการไว้ยังไง
รู้จัก THiNKNET จาก Job Fair ของมหาวิทยาลัย และมองว่าตอบโจทย์การฝึกงานของตัวเองที่อยากจะเรียนรู้ Hard Skills เกี่ยวกับ Full Stack และอยากทำโปรเจกต์ที่ได้นำไปใช้งานจริง ก็เลยเลือกฝึกงานกับที่นี่ค่ะ ซึ่งพอได้ทำงานจริงก็รู้สึกดีใจ เพราะนอกจากจะได้เรียนรู้ Hard Skills ได้ทำโปรเจกต์ และได้ประสบการณ์ตามที่คาดหวังไว้แล้ว บรรยากาศการทำงานที่นี่ก็ชวนให้สบายใจมาก ๆ ด้วย
ถ้าจะให้นิยามการทํางานที่ THiNKNET จะนิยามว่ายังไงดี
เป็นการทำงานที่สนุก เป็นกันเอง และช่วยกันเรียนรู้
ช่วยเล่า Moment หรือประสบการณ์การทํางานที่ประทับใจให้ฟังหน่อย
ในช่วงแรก ๆ ของการฝึกงานจะเป็น Bootcamp สำหรับเรียนรู้ ซึ่งพอเรียน Framework และลองทำ Challenge ทบทวนความเข้าใจเสร็จแล้วก็จะมี Session นำเสนอและรีวิวโค้ด ซึ่งบรรยากาศของ Session นี้ทำให้รู้สึกประทับใจเพราะได้รับคำแนะนำอย่างจริงจัง ตั้งใจ และมีประโยชน์มาก ๆ สามารถนำไปปรับใช้ได้จริงในอนาคต
นอกจากพาร์ทการทํางาน หลังเลิกงานเราทํากิจกรรมหรือมีงานอดิเรกอะไรบ้าง การทํางานแบบ WFA มีผลอะไรบ้างไหม
มีงานอดิเรกและกิจกรรมภายนอกค่อนข้างเยอะ เช่น จัดค่าย เรียนภาษา วาดรูป อ่านหนังสือ ซึ่งการ WFA นั้นก็ Flexible ตรงที่สามารถเริ่มงานและเลิกงานได้อย่างยืดหยุ่น ขอแค่ทำงานได้ครบตามขอบเขตเวลาที่กำหนดไว้ก็พอ ช่วยให้สามารถทำกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมด้วยได้
ทํา Side Project กับ THiNKNET ต่อด้วยใช่ไหม ทําไมถึงยังทำงานกับเราต่อ
ที่ทำ Side Project ต่อเพราะต้องการพัฒนาโปรเจกต์ที่เราทำอยู่ต่อไปให้เสร็จสมบูรณ์และเก็บประสบการณ์ในการทำงานเพิ่มขึ้น
Side Project ที่ได้ทํากับ THiNKNET เป็นโปรเจกต์อะไร เราทําอะไรบ้าง ลักษณะวิธีการการทํางานเป็นยังไง ทําเป็น Part-time หรือรับเป็น Freelance
Side Project ที่ทำเป็นฟีเจอร์สถิติบน JobThai Backoffice โดยทำในลักษณะ Part-time ใช้เวลาทีละครึ่งวันถึงหนึ่งวัน ในช่วงเวลาที่ไม่มีเรียน
แม้จะเป็นการฝึกงานทางไกลในรูปแบบ Work from Anywhere แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะ ได้ทั้งเพื่อนและประสบการณ์กลับไปแบบเน้น ๆ เลยทีเดียว
สำหรับใครที่ชอบการทำงานแบบยืดหยุ่น จัดสรรเวลาในการทำงานได้อย่างอิสระ และอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับ THiNKNET ทั้งในตำแหน่ง Software Engineer หรือตำแหน่งอื่น ๆ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดการรับสมัครทั้งหมดได้ที่นี่เลย