Smogathon แก้ปัญหาฝุ่นพิษ ด้วยนวัตกรรม

Smogathon แก้ปัญหาฝุ่นพิษ ด้วยนวัตกรรม
06/06/19   |   4.2k

"หมอกจางๆและควัน คล้ายกันจนบางทีไม่อาจรู้"


        ทุกเช้าช่วงในช่วงเดือนมีนาคมชาวเชียงใหม่ได้ตื่นขึ้นมาพร้อมกับควันสีขาวที่ลอยล่องในทุกอนูอากาศ กลิ่นควันไฟติดอยู่ในประสาทสัมผัสทั้งการดมกลิ่นและการมองเห็น ทุกสิ่งดูเกิดขึ้นเป็นปกติจนเกือบจะกลายเป็นความเคยชิน

        ก่อนอื่นเลยขอเล่าก่อนว่าผมเองเป็นคนที่ได้ประสบปัญหาภัยพิบัติฝุ่นควันพิษที่จังหวัดเชียงใหม่คนนึง ทั้งบนท้องถนน ที่ทำงาน หรือแม้แต่ในห้องนอน ไม่กี่สิ่งที่ทำได้คือการใส่หน้ากากกันฝุ่น PM 2.5 และการซื้อเครื่องฟอกอากาศมาใช้ในห้อง


"มันก็พอช่วยได้ แต่นั่นคือการอยู่กับปัญหาที่ปลายทางของมัน"

        ทุกครั้งที่ตื่นลืมตาขึ้นมาได้แต่ตั้งคำถามว่าเราจะออกจากวงจรนี้ได้ยังไงกัน? ฝุ่นควันมาจากไหน? นี่คือวงจรที่เกิดจากธรรมชาติหรือฝีมือมนุษย์?  หลายต่อหลายครั้งเราได้แต่กรายนิ้วลงบนคีย์บอร์ด พร่ามบ่นถึงปัญหาที่เราไม่อาจรู้ที่มาและเฝ้ามองหาคนที่จะยื่นมือเข้ามาแก้ แต่ก็ทำได้เพียงเท่านั้นเอง...


        จนถึงวันนึงที่ได้เจอโพสสะดุดตาจากฟีด facebook ซึ่งมองผ่าน ๆ นั้นชื่อมันดูคุ้นหูคุ้นตาคล้ายคำว่า Hackathon การละเล่นที่ชาว Developer มักจะชอบเข้าไปแข่งขันประชันไอเดียและฝีมือกันข้ามวันข้ามคืน อาจเพื่อความสนุก และของรางวัลหรืออะไรก็แล้วแต่
แต่ดูเหมือน Hackathon งานนี้นั้น ใจความของเป้าหมายมิใช่การฟาดฟันด้วยเทคโนโลยี มิใช่เพื่อแบ่งทีมชิงรางวัล หากแต่มันคือการมีเป้าหมายร่วมกันคือการช่วยให้ปัญหาหมอกควันพิษที่ทุกคนได้เจอนั้นได้หมดไปจากวิถีชีวิตของเรา งานนั้นถูกตั้งชื่อว่า 

"Smogathon"

การระดมไอเดียสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาระดับชาติภายในเวลา 24 ชั่วโมง

. . .

        ไม่รอช้า กดสมัครเข้าร่วม ลงชื่อเข้าร่วมพร้อมกับน้อง ๆ จาก THiNKNET อีก 4 คน ด้วยเป้าหมายเดียวกัน บรรยากาศในงานนั้นค่อนข้างเป็นกันเองเพราะจัดในสถานที่ที่คุ้นเคยที่เปิดให้ Developer และ คนในหลากหลายสาขาอาชีพเข้ามาใช้งานบ่อยๆ ที่ Punspace มี staff ที่มีความเป็นมืออาชีพในการจัดงาน
งานถูกแบ่งออกเป็นสี่ช่วงใหญ่ ๆ คือ


ช่วงเช้าของวันแรก

        มีวิทยากรจากหลายส่วนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาฝุ่นควัน ไฟป่า การเกษตร และหน่วยงานรัฐ มาให้ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับที่มาของฝุ่นควัน และปัญหาที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติหน้าที่ จากนั้นจะให้คนที่มีไอเดียมา Pitch ไอเดียของตัวเองเป็นเวลา 30 วินาทีให้กับผู้เข้าร่วมที่สนใจมารวมกลุ่มกับเรา

สิ่งที่ได้รับ

        ได้รับรู้ปัญหาและวิธีการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากขึ้น รวมถึงปัญหาที่แท้จริงและผลกระทบต่อผู้คนและได้คนที่มีเป้าหมายเดียวกันมาเข้าทีม


ช่วงบ่ายของวันแรก

        เป็นการมาเสริม practice และพื้นฐานเกี่ยวกับการทำ Product discovery process บางส่วนที่จำเป็นต่อการตั้งโจทย์ในการทำงานครั้งนี้

สิ่งที่ได้รับ

ทีมเข้าใจเรื่องการทำ PersonA , User journey , Prototyping มากขึ้นเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่การพัฒนาต่อไป


ช่วงเย็นจนถึงเช้าของวันรุ่งขึ้น

        คือการ ทำ ทำ ทำ แล้วก็ทำ สิ่งที่คิดออกมาเป็น Prototype เอาไปทดสอบกับกลุ่มเป้าหมายที่เราได้ตั้งไว้โดยจะมี mentor คอยให้คำปรึกษาทุก ๆ กลุ่มอยู่ด้วยตลอดเวลา ซึ่งแต่ละกลุ่มนั้นก็จะทำ Prototype ในแต่ละรูปแบบของตัวเอง เพื่อให้กรรมการท่านต่าง ๆ ได้เห็นภาพไอเดียของตัวเองมากที่สุด


        ระหว่างทางช่วงกลางคืนก็ไม่ใช่ว่าจะทำงานกันแบบเงียบเหงา เพราะเหล่าสตาฟมีกิจกรรมมาให้เล่นแทบจะรายชั่วโมง พร้อมของกินที่ไม่ขาดสาย เรียกว่าใครกินตลอดคืนอาจมีน้ำหนักขึ้นไม่รู้ตัว ฮ่า ๆ

"ตี 1 ผ่านไป ตี 2 ตี 3 ค่อยๆ ผ่านไป"

        ทีมที่ทำงานยังคงขะมักเขม้นทำงานกันอย่างไม่ลดละ บ้างมีสลับกันไปนอนพัก บ้างก็ยังปั่นงานและทดสอบการทำงานกันตลอดคืน


        เวลาย่ำเช้าแบบไม่ทันให้ตั้งตัว แน่นอนว่าโลกไม่ได้หมุนรอบตัวเองเร็วขึ้นแต่เพราะเราจดจ่อและสนุกกับงานที่ต้องทำกัน หลาย ๆ ทีมเริ่มตื่นขึ้นมารวมตัวกันเตรียมตัวกินข้าวเช้าร่วมกัน พูดคุยถึงช่วงเวลา 1 คืนที่ผ่านมา บ้างก็เตรียมตัวพรีเซนท์งาน กระจายตัวกันอยู่ทั่วสนามหญ้าแห่งนี้

สิ่งที่ได้รับ

        แน่นอนงานที่ทำในกรอบเวลาที่จำกัดทำให้เรามีสมาธิมากขึ้น ได้ฝึกการแก้ปัญหาในเวลาจำกัด รวมถึงได้ทำความรู้จักกับเพื่อน ๆ มากมายที่ได้ร่วมงานกัน

มาถึงช่วงสุดท้ายของงาน

        คือช่วงที่เราต้องพรีเซนท์ให้กับคณะกรรมการถึงสิ่งที่เราได้ร่วมกันทำมาเป็นเวลา 24 ชั่วโมง โดยวิธีการก็คือการสุ่มแต่ละทีมขึ้นมาพรีเซนท์เป็นเวลา 5 นาที และเปิดโอกาสให้กรรมการถามเป็นเวลา 5 นาที รวม ๆ แล้วใช้เวลาทีมละ 10 นาที

        จังหวะนี้แต่ละทีมที่สั่งสมความรู้และไอเดียมาตลอดงานนั้น ได้ปล่อยของทุกอย่างออกมาเป็นการสร้างสรรค์ในชิ้นงานและการบอกเล่าวิธีการแก้ปัญหาในแง่มุมต่าง ๆ ออกมาผ่านการนำเสนอ นี่คือช่วงเวลาที่ทุกคนรอคอยหลังจากที่ทำงานกันมากว่า 20 ชั่วโมง
จนถึงช่วงประกาศผลทีมที่ได้รับรางวัล The winner นั้นเป็นทีมที่นำเสนอวิธีแก้ปัญหาเกี่ยวกับการ "จองคิวการเผาเพื่อการเกษตร สำหรับเกษตรกร" รวมไปถึงรางวัล Popular vote ด้วย โดยโปรเจ็คนี้ชื่อว่า "JongBurn" เรียกได้ว่าทุกคนมีมติเอกฉันท์ในไอเดียนี้กันเลย


แต่บอกได้เลยว่าทุกไอเดีย คือจิ๊กซอว์ที่ประกอบซึ่งกันและกันช่วยกันแก้ปัญหาแต่ละมุม ทั้ง 6 กลุ่ม โดยผมจะสรุปโดยรวมโปรเจ็คของแต่ละกลุ่มดังนี้

  1. JongBurn - ระบบที่ให้เกษตรกรสามารถจองช่วงเวลาในการเผาเพื่อการเกษตรเพื่อลดปัญหาการเผาพร้อมกันแล้วทำให้ควันเกิดขึ้นเยอะ
  2. FirenteeR - (ของผมเอง) แอพพลิเคชันระดมพลสำหรับอาสาสมัครดับไฟป่าแจ้งเตือนเมื่อเกิดไฟป่าในระยะที่สามารถไปช่วยได้
  3. Green Planet @Rin-Kham - โครงการรวมแนวคิดและนวัตกรรมให้ผู้คนเข้าถึงได้
  4. Nifty Green - เว็บไซต์พื้นที่ซื้อขายผลผลิตทางการเกษตรปลอดการสร้างฝุ่นควัน
  5. คั่วโฮะ - นวัตกรรมเตาเผาไร้ควัน
  6. Smog of the north - บอร์ดเกมสร้างการเรียนรู้และจิตสำนึกเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นควัน

ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนั้นทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องปัญหาต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดฝุ่นควันพิษ และพลังของการแก้ปัญหาเดิมด้วยวิธีการและแนวคิดใหม่ ๆ เพื่อทำให้ประเทศไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม


tags : hackathon



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email