Dymaxion Projection ผืนน้ำและแผ่นดินเดียวของฟุลเลอร์

Dymaxion Projection ผืนน้ำและแผ่นดินเดียวของฟุลเลอร์
11/10/22   |   2.4k

นักทำแผนที่หลายสมัยดิ้นรนกับการหาวิธีสร้างแผนที่โลกซึ่งสมจริงมากที่สุด ภายใต้ข้อจำกัดของการถ่ายทอดรายละเอียดบนพื้นผิวโลกทรงกลมสู่แนวราบ การได้มาซึ่งสัดส่วนที่สมบูรณ์คือโจทย์อันท้าทาย ขณะที่นักทำแผนที่หลายคนครุ่นคิดถึงรูปทรงกลมในหัว แต่ชายชื่อ "Richard Buckminster Fuller" มองต่างออกไป

 

"แล้วถ้าโลกไม่ต้องกลมเสมอไปล่ะ?"  

Dymaxion Projection

[Image: The Buckminster Fuller Institute]

 

วันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1943 นิตยสาร LIFE ได้ตีพิมพ์ผลงานของ Richard Buckminster Fuller สถาปนิกชื่อดังชาวอเมริกัน ผู้นำเสนอแผนที่โลกรูปร่างแปลกตา ซึ่งมีลักษณะของรูปเรขาคณิตหลายชิ้นเรียงต่อกัน ในบทความชื่อ 'Buckminster Fuller's Dymaxion World' แผนที่ดีไซน์ใหม่นี้ชื่อ Dymaxion เช่นเดียวกันกับสิ่งประดิษฐ์ล้ำยุคอีกหลายอย่างของเขา และขณะเดียวกันเส้นโครงแผนที่นี้ก็ล้ำไปหลายสมัย เพราะโลกของฟุลเลอร์ไม่ใช่ทรงกลม! แต่เป็นรูปทรง Cuboctahedron หรือทรงหลายหน้า ที่เมื่อคลี่ออกในแนวราบจะได้ภาพของโลกสองมิติซึ่งมีผืนน้ำและแผ่นดินเดียว ต่างกับแผนที่โลกในภาพจำของคนทั่วไป จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง

 

การปรากฏตัวครั้งแรกของ Dymaxion Projection บนนิตยสาร LIFE 

[Image: Life magazine, 1943]

 

นอกจากรูปลักษณ์สะดุดตาแล้ว คุณสมบัติอันโดดเด่นไม่แพ้กันของแผนที่แบบไดแมกเซียนคือการรักษาสัดส่วนพื้นที่และรูปร่างของแต่ละทวีปไว้ได้อย่างน่าประทับใจ แต่ในทางกลับกันความซับซ้อนของโครงสร้างนั้นก็เปลี่ยนหน้าตาของแผนที่โลกที่เรารู้จักไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อการเรียงตัวของทวีปถูกตีความใหม่ตามโครงสร้างเรขาคณิตทำให้สามารถคลี่ออกได้หลายมุม แต่ในทางกลับกันก็ทำให้ไม่สามารถระบุทิศได้ จึงไม่มีทิศเหนือ ใต้ ออก ตก อย่างที่เราคุ้นเคย ฟุลเลอร์เคยอธิบายว่าเขามองโลกเป็นเพียงดาวที่อยู่ในจักรวาล และจักรวาลก็ไม่มีทิศ!

 

Dymaxion Airocean World ผลงานของ R. Buckmister Fuller และ Shoji Sadao

[Image: The Buckminster Fuller Institute]

 

หลังจากเปิดตัวผลงานแผนที่ไดแมกเซียน ฟุลเลอร์ก็ได้รับสิทธิบัตรอย่างเป็นทางการใน ค.ศ 1945 ก่อนที่จะมีการ Re-design ขึ้นใหม่ ใน ค.ศ. 1954 ครั้งนี้ฟุลเลอร์ได้ทำงานร่วมกับ Shoji Sadao นักทำแผนที่คู่ใจ ทั้งคู่ได้สร้างเส้นโครงแผนที่ขึ้นจากรูปทรงของลูกเต๋ายี่สิบหน้า (Icosahedron) โดยอาศัยทฤษฎีและพื้นฐานเดิมจนออกมาเป็น Airocean World Map ภายใต้แนวคิดเดิมคือผืนน้ำและแผ่นดินเดียว ซึ่งเป็นแผนที่ไดแมกเซียนที่คงคอนเซปต์เดิมแต่ดูคุ้นเคยมากกว่าเพราะยังมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน 

 

Shoji Sadao และ R. Buckmister Fuller

[Image: The Buckminster Fuller Institute]

 

จากลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใครทำให้เส้นโครงแผนที่ไดแมกเซียนถูกใช้งานอยู่ในวงจำกัด ฟุลเลอร์เคยใช้แผนที่ไดแมกเซียนอธิบายการกระจายตัวของมนุษย์บนโลกในหนังสือ Critical Path ของเขา ตลอดจนสามารถใช้ในการแสดงความแตกต่างของอุณหภูมิในแต่ละพื้นที่บนโลกได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังใช้แผนที่เป็นส่วนหนึ่งของเกมสร้างสถานการณ์ World Game ที่ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อจำลองการวางกลยุทธ์ในการบริหารทรัพยากรของโลกเพื่อให้ใช้น้อยแต่เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีจุดประสงค์ให้เกิดความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของโลกและหาทางออกร่วมกัน 

 

Dymaxion Airocean Projection แสดงเขตภูมิอากาศทั่วโลก

[Imagehttps://worldgameworkshop.org/dymaxion-perspective]

 

"It really does require a courage and a self-disciplining

to go along with that truth." 

"ความกล้า และวินัยในตัวเอง คือสิ่งจำเป็นที่ต้องไปด้วยกันกับความจริง"

 

บักมินสเตอร์เชื่อเช่นนั้น ในยุคที่แผนที่แบบเมอร์เคเตอร์คือ Comfort Zone ของแผนที่โลก ซึ่งนำเสนอภาพรวมของโลกได้อย่างเข้าใจง่าย โดดเด่นทั้งความแม่นยำของทิศและระยะทาง แต่สัดส่วนอันบิดเบือนของหลายพื้นที่อาจสร้างความเข้าใจผิดให้เกิดขึ้นในสังคมได้ทั้งในแง่ของความรู้ และทัศนคติด้านอื่น ๆ ซึ่งมีส่วนทำให้ฟุลเลอร์เกิดแนวคิดการสร้างแผนที่โลกที่เป็นกลางโดยไม่แบ่งแยก และให้ความสำคัญอย่างเท่าเทียม แรงบันดาลใจของฟุลเลอร์มาจากการมองภาพของชีวิตอย่างลึกซึ้ง การตั้งคำถามถึงการมีชีวิตอยู่ของสรรพสิ่ง เขามองโลกเป็นเหมือนยานอวกาศที่ล่องลอยอยู่ในจักรวาล ชีวิตทุกชีวิตอาศัยอยู่ร่วมกันบนแผ่นดินและผืนน้ำเดียวกัน    

 

[Image: The Buckminster Fuller Institute]

 

Richard Buckminster Fuller หรือ Bucky Fuller มีชีวิตอยู่ช่วง ค.ศ. 1895-1983 เกิดและเติบโตขึ้นในสหรัฐอเมริกา เป็นบุคคลสำคัญในวงการสถาปนิกอเมริกัน มีความเชี่ยวชาญหลายด้าน ทั้งวิศวกรรม สถาปัตยกรรม และปรัชญา ด้วยวิสัยทัศน์อันกว้างไกลทำให้มีผลงานเป็นที่จดจำมากมายตลอดชีวิตการทำงานของเขา  

 
Dymaxion Car และ Dymaxion House ผลงานแห่งโลกอนาคตของ R. Buckminster Fuller

[Image: The Buckminster Fuller Institute]

 

ชื่อไดแมกเซียน (Dymaxion) ไม่ได้ปรากฏแค่บนแผนที่ของฟุลเลอร์ แต่ใช้เรียกผลงานออกแบบอื่น ๆ ด้วย ซึ่งมีที่มาจาก DY (dynamic), MAX (maximum), and ION (tension) สามคำที่เขาชอบและใช้บรรยายถึงงานของเขาได้เป็นอย่างดี โดยเริ่มจาก Dymaxion House บ้านแห่งโลกอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมี Dymaxion Car รถยนต์สามล้อที่จุผู้โดยสารได้ถึง 11 คน

 

[Image: The Buckminster Fuller Institute]

 

ฟุลเลอร์ไม่ใช่คนช่างฝัน แต่เป็นคนช่างสร้าง เขาตั้งคำถามกับสิ่งรอบกายเสมอ โดยมีคำถามสำคัญคือมนุษย์จะอยู่รอดได้อย่างไรในอนาคต ความสนใจใคร่รู้ต่อปัญหาความเป็นอยู่ และสิ่งแวดล้อม มีส่วนหล่อหลอมให้เขาเป็นนักอนาคตศาสตร์ที่มองการณ์ไกล อีกผลงานสร้างชื่อของเขาคือ Geodesic Domes โครงสร้างอาคารขนาดใหญ่ที่ปราศจากเสาค้ำยันซึ่งมีแนวคิดมาจากการสร้างที่หลบภัยสำหรับผู้คนจำนวนมาก  

 

AuthaGraph Projection ผลงานของ Hajime Narukawa 

[Image: http://www.authagraph.com]

 

เส้นโครงแผนที่แบบไดแมกเซียนคือเสี้ยวหนึ่งของตัวตนและความคิดที่ฟุลเลอร์ถ่ายทอดออกมา ภายใต้ภาพลักษณ์ที่โดดเด่นต้องอาศัยความแข็งแกร่งอย่างสูงในจุดยืนของตัวเอง แม้แผนที่แบบไดแมกเซียนจะไม่ได้ประสบความสำเร็จในแง่ของความนิยมแต่ก็เป็นแรงบันดาลใจของนักทำแผนที่ในยุคต่อ ๆ มา โดยเฉพาะ AuthaGraph Projection ของ Hajime Narukawa ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นอีกหนึ่งในแผนที่ที่มีสัดส่วนแม่นยำสูง และใส่ใจต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกเช่นกัน 

แนวคิดแผ่นดินและผืนน้ำเดียวของฟุลเลอร์อาจดูเหมือนมายาคติ แต่ก็มีส่วนจริงอยู่ไม่น้อย แผนที่นอกจากจะมีหน้าที่นำทางแล้วยังเป็นเครื่องย้ำเตือนว่ามนุษย์คือส่วนหนึ่งของโลก เรารู้จักส่วนหนึ่งของเราดีหรือยัง ให้ความสำคัญเพียงพอหรือไม่ เมื่อลองเปลี่ยนมุมมองใหม่อาจได้เห็นความเป็นจริงอีกหลายอย่างที่รอให้เราตื่นรู้และรับผิดชอบร่วมกัน ในฐานะหนึ่งชีวิตในจักรวาล

 

พวกเราคือนักบินอวกาศบนยานลำเล็ก ๆ ที่เรียกว่าโลก 

"...we're all astronauts aboard a little spaceship called Earth"

- R. Buckminster Fuller

 

การสร้างเส้นโครงแผนที่ หรือ Map Projection คือศาสตร์ที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับโลกได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น หากกำลังมองหาแผนที่โลกที่ต่างออกไปจากความเคยชินเดิม ๆ THiNKNETDesignStudio ขอนำเสนอทางเลือกให้กับผู้สนใจศาสตร์แห่งการทำแผนที่ได้รู้จักกับแผนที่โลกแบบต่าง ๆ และหนึ่งในนั้นคือ Dymaxion Projection แผนที่โลกที่มีทั้งแบบ 2 ภาษา ไทย-อังกฤษ และแบบภาษาอังกฤษ เหมาะสำหรับใช้เพื่อการเรียนการสอน และตกแต่งเพื่อความสวยงาม

 

 

แผนที่ชุดรัฐกิจโลก 2 ภาษา: ไดแมกเซียน โปรเจกชัน

 

นอกจากนี้แล้ว Dymaxion Projection World Map ยังมีความพิเศษอีกหนึ่งอย่างคือ นอกจากจะทำหน้าที่เป็นแผนที่โลก 2D ยังสามารถประกอบขึ้นเป็นโครงสร้างของโลก 3D ได้ในลักษณะทรงเรขาคณิตแบบ Icosahedron หรือลูกเต๋า 20 หน้า ท้าทายความสามารถสาย Creative ให้ลองสร้างโลกโมเดลกระดาษตั้งแต่ตัดจนต่อขึ้นรูป ซึ่งมาในรูปแบบของ Dymaxion Projection World Map 3D 

 

 

THiNKNET Design Studio ยังมีผลิตภัณฑ์อีกมากมายให้เลือกสรร ไม่ว่าจะเป็น สื่อการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ แผนที่เพื่อการวางแผนธุรกิจ รวมถึงหนังสือคู่มือท่องเที่ยว "เที่ยว ล่า สุด" หนังสือท่องเที่ยวที่ออกตามล่าหาความเป็นที่สุดในทุก ๆ การเดินทาง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ Facebook: THiNKNETDesignStudio  
ซื้อสินค้าสื่อการเรียนรู้อื่น ๆ แผนที่เพื่อการตกแต่ง และหนังสือคู่มือท่องเที่ยวได้ ที่นี่   
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม Line: @thinknetdesign
Tel: 0 2480 9990

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

www.bfi.org/product/dymaxion-map/
www.atlasofplaces.com/cartography/dymaxion-world-map/
www.independent.co.uk/arts-entertainment/dymaxion-fuller-map-world-map-projections-a7641166.html

tags : world map map education social studies geography map projection decor history



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email