Robinson Projection World Map แผนที่โลกในอุดมคติของโรบินสัน

Robinson Projection World Map แผนที่โลกในอุดมคติของโรบินสัน
21/10/22   |   5.2k

ยุคศตวรรษที่ 20 คือจุดเปลี่ยนสำคัญในวงการแผนที่สมัยใหม่ ความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีทั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การพิมพ์ การถ่ายภาพ ล้วนมีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้นักทำแผนที่ได้สร้างสรรค์ผลงานได้อย่างไร้ขีดจำกัด 

หนึ่งในผลงานอันโดดเด่นของยุคนั้นคือ Robinson Projection แผนที่โลกของ Dr. Arthur Howard Robinson ซึ่งพัฒนาขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1963 เพื่อใช้นำเสนอแผนที่โลกเชิงพาณิชย์ให้กับ Rand McNally บริษัทแผนที่รายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา

 

Robinson Projection คือเส้นโครงแผนที่ประเภท Pseudocylindrical Projection หรือทรงกระบอกเทียม ซึ่งคุณสมบัติทั่วไปคล้ายกับเส้นโครงแผนที่แบบทรงกระบอก (Cylindrical Projection) อย่างแผนที่โลกแบบเมอเคเตอร์ แต่ต่างกันที่เส้นเมริเดียนหรือเส้นลองจิจูดของเส้นโครงแผนที่แบบทรงกระบอกเทียมจะเป็นเส้นโค้งลักษณะโดยรวมเป็นแบบกึ่งวงรี  

ภาพแสดงการบิดเบี้ยวของรูปร่างบนเส้นโครงแผนที่แบบโรบินสัน

 

จุดเด่นของแผนที่โรบินสันคือแสดงภาพรวมของโลกได้อย่างครบถ้วน เข้าใจง่าย ไม่เน้นการรักษาสัดส่วนรูปร่างพื้นที่ และระยะทาง แต่เลือกที่จะประนีประนอมค่าความบิดเบี้ยวมากกว่าการลดทอน มีเส้นศูนย์สูตรและเส้นลองจิจูดเป็นเส้นตรงตัดกัน  โดยมีเส้นขนานมาตรฐาน (Standard Parallel) ที่ 38°N และ 38°S ทำให้พื้นที่ระหว่างเส้นมาตรฐานมีความบิดเบี้ยวต่ำ ทั้งนี้โรบินสันเลือกใช้เส้นขนานมาตรฐานที่ 38°N และ 38°S เพราะครอบคลุมเขตอุณหภูมิ และถิ่นฐานประชากรส่วนใหญ่ของโลก 

“Right Appearing” 

เดิมโรบินสันเคยเรียกชื่อแผนที่ของเขา Orthophanic Projection ซึ่งหมายความว่า “การปรากฏภาพที่ถูกต้อง” แต่ชื่อที่เขาคิดขึ้นมานั้นกลับไม่ได้รับความนิยมหรืออ้างอิงถึงเลย แม้ว่าแท้จริงแล้ว Robinson Projection เกิดจากความตะขิดตะขวงใจที่โรบินสันมีต่อแผนที่แบบอื่น ๆ ที่ใช้กันมานาน เขาก็เหมือนักทำแผนที่คนอื่น ๆ ที่มองดูภาพกรีนแลนด์บนแผนที่เมอเคเตอร์แล้วก็ถอนใจ นอกจากนั้นตัวเขาเองก็รูีซึ้งถึงประสบการณ์ตรงจากค่าความผิดเพี้ยนต่าง ๆ บนแผนที่ในสมัยที่ทำงานให้กองทัพ  

"I started with a kind of artistic approach,"   

โรบินสันเคยให้สัมภาษณ์ New York Time เมื่อ ค.ศ. 1988 ถึงแผนที่ของตนไว้เช่นนั้น นักทำแผนที่หลายคนอาจเริ่มตั้งต้นการสร้างผลงานจากสมการอันซับซ้อน เพื่อหาค่าที่แม่นยำของแต่ละส่วนแต่สำหรับโรบินสันแล้ว เขาเริ่มจากการตั้งโจทย์ในใจว่าทำอย่างไรให้แผนที่โลกของเขาออกมาดูดีน่ามอง โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นกำลังสำคัญในการสร้างเส้นโครงแผนที่ จนได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ ดังจะเห็นได้จากความสมเหตุสมผลของสัดส่วนพื้นที่และรูปร่างบริเวณเขตละติจูดสูง (High latitude zone) ขนาดของรัสเซียและแคนาดาถูกต้องตามที่ควรจะเป็น แต่จนแล้วจนรอด กรีนแลนด์เจ้าปัญหาก็ยังคงบิดเบี้ยวต่อไป

 

แผนที่โลกแบบ Robinson Projection ใน นิตยสาร National Geographic ค.ศ 1988 

[Image: National Geographic] 

 

ดูเหมือนความพยายามของโรบินสันจะไม่สูญเปล่าเสียทีเดียว เพราะใน ค.ศ.1988 นั้นเอง เส้นโครงแผนที่ของเขาไปเข้าตา National Geographic Society จนกลายเป็นแผนที่มาตรฐานที่ใช้อย่างแพร่หลายและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ก่อนที่จะถูกแทนที่โดย Winkel Tripel Projection ใน ค.ศ. 1995

 

แผนที่โลกแบบ Winkel Tripel ที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร National Geographic

[Image: National Geographic] 

 

Dr. Arthur Howard Robinson นักภูมิศาสตร์และนำทำแผนที่ชาวอเมริกัน มีชีวิตอยู่ในช่วง ค.ศ. 1915-2004 เชี่ยวชาญทั้งปรัชญาและงานเขียน เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการแผนกแผนที่ของสำนักงานบริการยุทธศาสตร์ในสงครามโลกครั้งที่สอง ก่อนจะผันตัวมาเป็นศาสตราจารย์สาขาวิชาภูมิศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Wisconsin จนถึงบั้นปลายของชีวิต นอกจากเส้นโครงแผนที่แบบโรบินสันแล้ว เขายังเป็นผู้เขียนตำรา "Elements of Cartography" ที่ใช้เรียนอย่าง แพร่หลายในระดับมหาวิทยาลัยจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งยังไม่นับรวมตำแหน่งพิเศษที่ได้รับการยกย่องจากสมาคมภูมิศาสตร์ทั้งในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ตอกย้ำให้เห็นถึงความคร่ำหวอดในวงการภูมิศาสตร์และแผนที่มาอย่างยาวนาน 

แม้ Robinson Projection จะไม่ใช่เส้นโครงแผนที่ที่โดดเด่นเรื่องความแม่นยำ แต่ก็ยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องถือว่าสมดังความตั้งใจของ Dr. Arthur H. Robinson ที่ต้องการสร้างโลกที่สวยงามชวนมอง อาจไม่ได้สมบูรณ์แบบขนาดขึ้นแท่นเป็นตำนานแต่ก็ดีพอที่จะยืดอกรับได้อย่างภาคภูมิใจ 

การสร้างเส้นโครงแผนที่ หรือ Map Projection คือศาสตร์ที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับโลกได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น หากกำลังมองหาแผนที่โลกที่ต่างออกไปจากความเคยชินเดิม ๆ THiNKNETDesignStudio ขอนำเสนอทางเลือกให้กับผู้สนใจศาสตร์แห่งการทำแผนที่ได้รู้จักกับแผนที่โลกแบบต่าง ๆ และหนึ่งในนั้นคือ Robinson Projection แผนที่โลกที่มีทั้งแบบ 2 ภาษา ไทย-อังกฤษ และแบบภาษาอังกฤษ เหมาะสำหรับใช้เพื่อการเรียนการสอน และตกแต่งเพื่อความสวยงาม

แผนที่ชุดรัฐกิจโลก

 

 2 ภาษา                             ภาษาอังกฤษ

 

แผนที่โลกวินเทจ

 

 2 ภาษา                             ภาษาอังกฤษ

 

THiNKNET Design Studio ยังมีผลิตภัณฑ์อีกมากมายให้เลือกสรร ไม่ว่าจะเป็น สื่อการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ แผนที่เพื่อการวางแผนธุรกิจ รวมถึงหนังสือคู่มือท่องเที่ยว "เที่ยว ล่า สุด" หนังสือท่องเที่ยวที่ออกตามล่าหาความเป็นที่สุดในทุก ๆ การเดินทาง 

  

ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ Facebook: THiNKNETDesignStudio
ซื้อสินค้าสื่อการเรียนรู้อื่น ๆ แผนที่เพื่อการตกแต่ง และหนังสือคู่มือท่องเที่ยวได้ ที่นี่
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม Line: @thinknetdesign
Tel: 0 2480 9990


ขอบคุณข้อมูลจาก

https://geography.wisc.edu/maplibrary/the-robinson-projection/
https://en.wikipedia.org/wiki/History_of_cartography#History_of_cartography's_technological_changes 
https://www.lifepersona.com/projection-of-robinson-characteristics-advantages-and-utilities-and-disadvantages 
https://www.nytimes.com/2004/11/15/obituaries/arthur-h-robinson-89-geographer-who-reinterpreted-world-map-dies.html

tags : map map projection social studies history world map decor political map



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email