Winkel Tripel Projection แผนที่โลกที่เกือบถูกลืมของวิงเคิล

Winkel Tripel Projection แผนที่โลกที่เกือบถูกลืมของวิงเคิล
11/10/22   |   3.4k

ตั้งแต่ยุคแผนที่ปโตเลมีไปจนถึงเมอร์เคเตอร์ที่จารึกชื่อแผนที่ยอดนิยมกระทั่งข้ามศตวรรษมาถึงสมัยใหม่ นักทำแผนที่ทั่วโลกต่างขวนขวายหาวิธีของตนเองเพื่อถ่ายทอดภาพของโลกให้ออกมาสมบูรณ์แบบและเป็นที่จดจำ 

‘For the greater good’ 

การต่อสู้อย่างยาวนานของเหล่านักทำแผนที่หลายยุคคือการแก้ไขความบิดเบี้ยว (Distortion) ของสัดส่วนบนแผนที่ ซึ่งล้วนต้องก้มหน้ายอมรับความจริงว่าการจะนำเสนอรายละเอียดภาพจากพื้นผิวทรงกลมลงบนพื้นราบให้แม่นยำนั้นต้องแลกมาซึ่งการสูญเสียบางอย่างไป เช่น ทิศทาง ระยะทาง รูปร่าง และขนาดพื้นที่ เป็นการสละส่วนหนึ่งเพื่อคงส่วนอื่นไว้ ด้วยการลดทอน ตัดตอน ชนิดที่ต้องแยกมหาสมุทร บีบย่อแผ่นดิน จึงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมเส้นโครงแผนที่บางตัวถึงมีลักษณะเฉพาะจนต้องเอียงคอมอง

 

ออสวอลด์ วิงเคิล คือหนึ่งในนักทำแผนที่อีกหลายคนที่พยายามท้าทายขีดจำกัดชวนปวดหัวของแผนที่โลกด้วยการสร้างเส้นโครงแผนที่ที่รักษาสมดุลของอัตราส่วนต่าง ๆ โดยวิธีการ Compromise หรือ การประนีประนอมความผิดเพี้ยนให้น้อยที่สุดเท่าท่ี่จะเป็นไปได้ และในที่สุดผลงานแห่งความตั้งใจก็ได้เกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1921 'Winkel Tripel Projection' หรือ Winkel III ได้เผยโฉมครั้งแรกในหนังสือ Petermanns Geographische Mitteilungen ในรูปแบบเส้นโครงแผนที่ที่ไม่ได้มีคุณสมบัติคงรูปหรือคงพื้นที่ แต่เป็นเส้นโครงแผนที่ที่ลดความบิดเบี้ยว ผิดเพี้ยน และนำเสนอภาพรวมของโลกได้อย่างลงตัว

คำว่า Tripel ใน Tripel Winkel Projection มาจากภาษาเยอรมันที่มีความหมายเดียวกับ Triple ในภาษาอังกฤษที่แปลว่า ’สาม’ ซึ่งสื่อถึงส่วนสำคัญของแผนที่ คือ พื้นที่ ทิศ และระยะทาง ที่ลดความบิดเบี้ยวได้อย่างแนบเนียน โดยมีค่า Distortion เฉลี่ยน้อยมากเมื่อเทียบกับแผนที่ Compromise Projection ทั่วไปโดยก่อนหน้านี้วิงเคิลเคยทำแผนที่ลักษณะคล้ายกันมาแล้ว 2 เวอร์ชัน คือ Winkel I และ Winkel II ก่อนเป็น Winkel III ที่เริ่มจากการแปลง Azimuthal Projection ซึ่งมีคุณสมบัติคงทิศทางมาเป็นเส้นโครงตั้งต้น โดยใช้ค่าเฉลี่ยกลางของพิกัดจาก Aitoff และ Equidistant Cylindrical Projection ขีดเส้นขนานมาตรฐานที่ 50°28´เหนือและใต้ ปรากฏเส้นเมริเดียนปฐมและเส้นศูนย์สูตรเป็นเส้นตรง เส้นลองจิจูดเป็นเส้นโค้งแต่ไม่ขนานกัน

‘Not Perfect but Good Enough’ 

แผนที่ของวิงเคิลไม่ได้ถ่ายทอดจุดต่าง ๆ บนโลกได้อย่างสมบูรณ์แบบแต่ก็มีดีพอตัว เพราะแสดงภาพรวมของโลกได้อย่างเข้าใจง่าย นำเสนอสัดส่วนพื้นที่และรูปร่างส่วนใหญ่ได้เกือบสมจริง แม้จะปรากฏส่วนบิดเบี้ยวให้เห็นหลายจุด เช่น อเมริกาใต้ที่ดูแคบเกินจริง นอร์เวย์และไอซ์แลนด์ก็ดูใหญ่ไม่สมเหตุผลเมื่อเทียบกับส่วนอื่น ๆ หรือระยะและทิศทางที่ไม่ได้แม่นยำเท่าเมอร์เคเตอร์ แต่เมื่อเทียบกับเส้นโครงแผนที่ส่วนใหญ่ก็ถือว่าน่าชื่นชมในความพยายาม

 

ซ้าย: รูปร่างของอเมริกาใต้ในแผนที่วิงเคิล ทริปเพิล, ขวา: รูปร่างจริงของอเมริกาใต้

 

น่าเสียดายที่หลังจากเปิดตัวแผนที่ของวิงเคิลไม่ได้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ส่วนมากจะได้รับความนิยมในประเทศแถบยุโรปที่ใช้ภาษาเยอรมัน ใน ค.ศ. 1955 John Bartholomew ได้ปัดฝุ่นดีไซน์เดิมโดยใช้เส้นขนานมาตรฐานที่ 40° เหนือและใต้ เพื่อตีพิมพ์ในหนังสือ The Times Atlas of the World ภายใต้ชื่อแผนที่ World Mankind แสดงการกระจายตัวและความหนาแน่นของประชากรบนโลก แต่กระแสตอบรับก็ไม่ได้ฮือฮา จึงดูเหมือนผลงานของวิงเคิลค่อย ๆ ถูกวันเวลากลืนหายไป

 

แผนที่ World Mankind โดย John Bartholomew

[Image: https://www.abebooks.com/maps/World-mankind-Winkels-Tripel-projection-distribution/31103400194/bd]

 

จนกระทั่ง ค.ศ. 1995 the National Geographic Society ได้ชุบชีวิตแผนที่แบบทริปเพิล วิงเคิลขึ้นมาอีกครั้งเพื่อแทนที่ Robinson Projection ที่เคยใช้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1988 โดยใช้เป็นแผนที่โลกมาตรฐาน ความนิยมก็ค่อย ๆ ขยายตัวออกไปจนกลายเป็นที่รู้จักในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ออสวอลด์ วิงเคิลจากไปหลายสิบปีแล้ว ก่อนที่จะได้เห็นว่าเส้นโครงแผนที่ของเขากลับมาโลดแล่นอีกครั้งในฐานะแผนที่โลกที่ได้รับการยอมรับเป็นวงกว้าง

 


แผนที่โลกแบบ Winkel Tripel ที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร National Geographic

[Image: https://www.natgeomaps.com/re-world-classic-poster-size]

 

Oswald Winkel นักทำแผนที่ชาวเยอรมัน มีชีวิตอยู่ช่วง ค.ศ. 1874-1953 ผลงานส่วนใหญ่ของเขามักเป็นแผนที่สำหรับเดินทาง ซึ่งรู้จักกันเฉพาะในกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาเยอรมันเป็นหลัก แม้จะใช้เวลานานกว่าเส้นโครงแผนที่ของเขาจะได้รับความนิยม แต่ท้ายที่สุดก็ได้ฝากชื่อไว้ในฐานะผู้สร้างแผนที่ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจนถึงปัจจุบัน และไม่ใช่เฉพาะแค่แผนที่โลก เพราะขนาด NASA ยังวางใจใช้ Winkel Tripel Projection นำเสนอแผนที่ดาวอังคารในปี 2001

 

แผนที่ดาวอังคารที่นำเสนอโดย Winkel Tripel Projection ผลงานของ National Geographic ที่ร่วมมือกับ NASA

[Image: https://www.nationalgeographic.com/culture/article/planets-maps-exploring-mars-space-science]

 

ลักษณะทั่วไปของ Winkel Tripel Projection อาจมองดูคล้ายกับได้รับอิทธิพลมาจาก Robinson Projection แต่ความจริงแล้วเป็นผลงานที่พัฒนาขึ้นก่อนหน้านั้นหลายสิบปีแต่กลายเป็นที่รู้จักทีหลัง

 

ซ้าย: Robinson Projection, ขวา: Winkel Tripel Projection

 

แม้ในอดีตผลงานและชื่อเสียงของออสวอลด์ วิงเคิลไม่ได้ถูกจารึกให้เป็นตำนาน ข้อมูลส่วนตัวหรือแม้แต่ภาพถ่ายของเขาเองเกือบเป็นปริศนา แม้กาลเวลาจะเกือบลบเลือนตัวตนของเขาไป แต่ผลงานที่ฝากไว้นั้นยังคงอยู่ และทำหน้าที่ได้ดีพอให้ผู้คนได้จดจำ โดยพบเห็นได้บ่อยตามหนังสือแผนที่ และนิยมใช้ในการเรียนการสอนของหลายประเทศ

การสร้างเส้นโครงแผนที่ หรือ Map Projection คือศาสตร์ที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับโลกได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น หากกำลังมองหาแผนที่โลกที่ต่างออกไปจากความเคยชินเดิม ๆ THiNKNETDesignStudio ขอนำเสนอทางเลือกให้กับผู้สนใจศาสตร์แห่งการทำแผนที่ได้รู้จักกับแผนที่โลกแบบต่าง ๆ และหนึ่งในนั้นคือ Winkel Tripel Projection แผนที่โลกที่มีทั้งแบบ 2 ภาษา ไทย-อังกฤษ และแบบภาษาอังกฤษ เหมาะสำหรับใช้เพื่อการเรียนการสอน และตกแต่งเพื่อความสวยงาม 

 

 

แผนที่ชุดรัฐกิจโลก 2 ภาษา: วิงเคิล ทริปเพิล โปรเจกชัน

 

THiNKNET Design Studio ยังมีผลิตภัณฑ์อีกมากมายให้เลือกสรร ไม่ว่าจะเป็น สื่อการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ แผนที่เพื่อการวางแผนธุรกิจ รวมถึงหนังสือคู่มือท่องเที่ยว "เที่ยว ล่า สุด" หนังสือท่องเที่ยวที่ออกตามล่าหาความเป็นที่สุดในทุก ๆ การเดินทาง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ Facebook: THiNKNETDesignStudio  
ซื้อสินค้าสื่อการเรียนรู้อื่น ๆ แผนที่เพื่อการตกแต่ง และหนังสือคู่มือท่องเที่ยวได้ ที่นี่   
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม Line: @thinknetdesign
Tel: 0 2480 9990

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://www.nationalgeographic.com/culture/article/planets-maps-exploring-mars-space-science
http://www.winkel.org/other/Winkel%20Tripel%20Projections.htm
https://www.pygmt.org/dev/projections/misc/misc_winkel_tripel.html

tags : map map projection political map decor map social studies world map education geography decor history



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email