Goode Homolosine Projection โลกเปลือกส้มของนักทำแผนที่หัวขบถ

Goode Homolosine Projection โลกเปลือกส้มของนักทำแผนที่หัวขบถ
11/10/22   |   2.2k

หากเมื่อราว 2000 ปีก่อน Eratosthenes นักภูมิศาสตร์ชาวกรีกไม่ลุกขึ้นมาบอกชาวกรีกและพิสูจน์ให้เห็นว่าโลกกลม หรือ Apollo 17 ส่งภาพโลกแบนราบกลับมา ศาสตร์แห่งการทำแผนที่คงไม่ท้าทายเท่าทุกวันนี้ เพราะการทำแผนที่จากพื้นราบง่ายกว่าการแปลงค่าจากพื้นผิวทรงกลมมาก นักทำแผนที่ยุคใหม่ตระหนักถึงข้อจำกัดเหล่านั้นดี และพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อหาวิธีเอาชนะมัน

 

แผนที่โลกของ Eratosthenes ที่ทำขึ้นใหม่เมื่อ ค.ศ. 1883 ชี้ให้เห็นความเข้าใจเรื่องโลกกลม

[Image: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Mappa_di_Eratostene.jpg]

 

แผนที่โลกในยุคเก่ามักถ่ายทอดออกมาจากความรู้ความเข้าใจที่มี จนกระทั่ง ค.ศ. 1569 แผนที่แบบเมอร์เคเตอร์ได้อุบัติขึ้น ทั้งรูปลักษณ์และคุณสมบัติที่ครบครันทำให้ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องยาวนานจนถึงทุกวันนี้ สำหรับนักทำแผนที่ยุคหลังนั้น Mercator Projection เปรียบได้กับทั้งครูและคู่แข่งในเวลาเดียวกัน เพราะนอกจากความแม่นยำของทิศและระยะทางแล้ว การบิดเบือนของแผนที่แบบเมอร์เคเตอร์ยังท้าทายนักทำแผนที่มาทุกยุคสมัย

 

File:Mercator 1569 map small.jpg - Wikimedia Commons 

Mercator Projection แบบต้นฉบับ ค.ศ.1569

[Image: http://www.wilhelmkruecken.de/]

 

“Evil Mercater” 

คือคำวิจารย์อย่างแสบสันที่มีต่อแผนที่ระดับครูของ John Paul Goode ซึ่งได้กล่าวในที่ประชุมของ American Association of Geographers เมื่อ ค.ศ. 1908 ในบัลติมอร์ สหรัฐอเมริกา เขาคืออีกคนที่ลุกขึ้นมาท้าทายข้อจำกัด ชี้ให้เห็นว่า Mercator Projection นั้นบิดเบือนมากแค่ไหนในหลาย ๆ จุด โดยเฉพาะบริเวณขั้วโลกและเส้นองศาเหนือ เพราะแผนที่เมอร์เคเตอร์ฉายภาพจากโลกทรงกลมลงบนพื้นผิวทรงกระบอก จึงหลีกเลี่ยงความบิดเบือนได้ยาก ยังไม่นับรวมการแสดงขนาดเกินจริงของหลายพื้นที่ แล้วไม่ Evil อย่างไรกัน? 

“ก็ในเมื่อโลกกลมจริง ๆ นี่นะ” 

John Paul Goode เก็บงำความขุ่นข้องหมองใจไว้หลายปี จนกระทั่ง ค.ศ 1916 กู๊ดได้หยิบเอาแผนที่แบบ Mollweide (Homolographic) ซึ่งเป็นแผนที่แบบวงรี ใกล้เคียงกับความเป็นจริงของโลกมาทดลองสร้างเส้นโครงแผนที่ตามแบบฉบับเขาเอง ก่อนจะตกผลึกใน ค.ศ. 1923 แผนที่ไฮบริดแบบ Goode Homolosine ก็เผยโฉมออกสู่สายตาชาวโลก   

 

ถ้าการคลี่โลกทรงกลมออกมาเป็นทรงกระบอกมันสร้างปัญหามากนักก็ตัดต่อมันซะเลย 

กู๊ดเลือกเอาจุดแข็งของแผนที่แบบ Mollweide ที่มักรู้จักกันในชื่อ Homolographic มารวมกับแบบ Sinusoidal ซึ่งส่วนขั้วโลกเหนือและใต้ใช้แผนที่แบบ Mollweide ประกบกับแผนที่แบบ Sinusoidal บริเวณเส้นละติจูดที่ 40° 44'12'' ซึ่งปรากฏรอยต่อให้เห็นชัดเจน คำว่า Homolosine ในชื่อแผนที่นั้นจึงเกิดจากการฟิวชันกันของ Homolographic และ Sinusoidal อย่างไม่ต้องสงสัย

 

ค่านิยมของการสร้างเส้นโครงแผนที่ตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา มักวางสหรัฐอเมริกาไว้จุดกึ่งกลางของแผนที่ ชนิดที่ยอมแยกยูเรเซียออกจากกันดีกว่าจะเสียตำแหน่งไป จนกลายเป็นเหมือนธรรมเนียมที่สืบต่อกันมา แต่สำหรับ John Paul Goode ที่เรียก “Evil Mercater” แล้ว ถ้าสหรัฐอเมริกาไม่โดดเด่นอยู่ตรงกลางตามสมัยนิยมจะเป็นอะไรไป

 

ตัวอย่างแผนที่โลกช่วง ค.ศ. 1891 แสดงภาพประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่กึ่งกลางแผนที่

[Image: https://wardmapsgifts.com/]

 

ความที่ต้องการรักษาสัดส่วนโดยรวมให้มีจุดบิดเบือนน้อยที่สุด จึงต้องแลกมากับการขาดตอนของมหาสมุทร จนมองดูเหมือนกับเปลือกส้มที่ลอกออกจากผล ทำให้ Goode Homolosine Projection มีอีกชื่อคือ Orange-peel Map ซึ่งความจริงแล้วโลกและส้มก็มีลักษณะไม่ต่างกันเท่าไร หากต้องการสร้างแผนที่ที่ไม่บิดเบือนก็คงต้องค่อย ๆ ปอกผิวโลกออกมาทีละส่วนแบบนี้เช่นกัน

[Image: reddit.com]

 

Goode Homolosine Projection เป็นเส้นโครงแผนที่ทรงกระบอกเทียม (Pseudocylindrical) แบบคงพื้นที่ (Equal-area map projection) ซึ่งแสดงสัดส่วนพื้นที่ของแต่ละประเทศได้อย่างแม่นยำ เหมาะกับการทำแผนที่แบบมาตราส่วนเล็ก (Small Scale) ที่ต้องการแสดงพื้นที่ขนาดใหญ่ที่มีรายละเอียดอย่างแผนที่โลก แม้จะเป็นแผนที่แบบขาดตอนแต่ก็แสดงภาพรวมของโลกได้อย่างครบครัน โดยเฉพาะพื้นดินและมหาสมุทร จึงเหมาะกับการใช้ประกอบการศึกษาทรัพยากรธรรมชาติ และสภาพภูมิอากาศ

 

Graph showing distribution of biomes and protected areas globally

แผนที่ Goode Homolosine แสดงการกระจายตัวของชีวมวลและพื้นที่คุ้มครองทั่วโลก

[Image: https://polarconnection.org/forests-and-land-use/]

 

John Paul Goode เกิดในรัฐมินนิโซตา ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ ค.ศ. 1862 ได้รับยกย่องในฐานะนักภูมิศาสตร์ และนักทำแผนที่ผู้มากความสามารถ ผู้เป็นหัวใจสำคัญในวงการภูมิศาสตร์อเมริกันช่วง ค.ศ. 1900-1940 สไตล์การสร้างเส้นโครงแผนที่โลกของกู๊ดปฏิวัติวงการแผนที่ให้ก้าวไปอีกขั้น เขาได้ตีพิมพ์ผลงาน Goode’s School Atlas ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Goode’s World Atlas ร่วมกับ Leppard และ Espenshade เมื่อ ค.ศ. 1923 ปีเดียวกันกับที่โลกได้รู้จัก Goode Homolosine Projection ซึ่งเขายืนยันว่าทุกตารางนิ้วบนหนังสือแผนที่ของเขาตรงกับทุกตารางไมล์บนพื้นผิวโลกทุกประการ และหนังสือแผนที่ของกู๊ดก็ยังพิมพ์ซ้ำมาจนถึงทุกวันนี้

 

 

แม้กู๊ด โฮโมโลซีน โปรเจกชัน จะไม่ได้เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายเท่ากับผลงานขึ้นหิ้งอย่างแผนที่แบบเมอร์เคเตอร์ แต่กู๊ดก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ายังมีอีกหลายวิถีทางที่แม้จะเข้าตามตรอกแต่ไม่ต้องออกตามประตูก็ได้ และผลงานของกู๊ดเองก็กลายมาเป็นหนึ่งในตำราสำคัญของนักทำแผนที่ยุคใหม่ให้ได้ศึกษา ตราบใดที่โลกยังกลมไม่ต่างอะไรกับส้มหนึ่งผล การสร้างแผนที่โลกแนวราบที่ถ่ายทอดรายละเอียดได้อย่างสมบูรณ์ไร้ที่ติ ดูเหมือนเป็นเรื่องท้าทายนักทำแผนที่ให้หาวิธีปอกเปลือกโลกใบนี้ต่อไปอีกนาน

 

การสร้างเส้นโครงแผนที่ หรือ Map Projection คือศาสตร์ที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับโลกได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น หากกำลังมองหาแผนที่โลกที่ต่างออกไปจากความเคยชินเดิม ๆ THiNKNETDesignStudio ขอนำเสนอทางเลือกให้กับผู้สนใจศาสตร์แห่งการทำแผนที่ได้รู้จักกับแผนที่โลกแบบต่าง ๆ และหนึ่งในนั้นคือ Goode Homolosine Projection แผนที่โลกที่มีทั้งแบบ 2 ภาษา ไทย-อังกฤษ และแบบภาษาอังกฤษ เหมาะสำหรับใช้เพื่อการเรียนการสอน และตกแต่งเพื่อความสวยงาม

 

 

 

แผนที่ชุดรัฐกิจโลก 2 ภาษา: กู๊ด โฮโมโลซีน โปรเจกชัน

 

THiNKNET Design Studio ยังมีผลิตภัณฑ์อีกมากมายให้เลือกสรร ไม่ว่าจะเป็น สื่อการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ แผนที่เพื่อการวางแผนธุรกิจ รวมถึงหนังสือคู่มือท่องเที่ยว "เที่ยว ล่า สุด" หนังสือท่องเที่ยวที่ออกตามล่าหาความเป็นที่สุดในทุก ๆ การเดินทาง

 

ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ Facebook: THiNKNETDesignStudio  
ซื้อสินค้าสื่อการเรียนรู้อื่น ๆ แผนที่เพื่อการตกแต่ง และหนังสือคู่มือท่องเที่ยวได้ ที่นี่   
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม Line: @thinknetdesign
Tel: 0 2480 9990

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://www.independent.co.uk/life-style/history/ancient-greeks-proved-earth-round-eratosthenes-alexandria-syene-summer-solstice-a8131376.html
https://pro.arcgis.com/en/pro-app/latest/help/mapping/properties/goode-homolosine.htm
https://www.mapthematics.com/ProjectionsList.php?Projection=87
https://www.liquisearch.com/john_paul_goode/evil_mercator

tags : map map projection social studies geography education world map decor history



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email