Winkel Tripel Projection แผนที่โลกที่เกือบถูกลืมของวิงเคิล

ตั้งแต่ยุคแผนที่ปโตเลมีไปจนถึงเมอร์เคเตอร์ที่จารึกชื่อแผนที่ยอดนิยมกระทั่งข้ามศตวรรษมาถึงสมัยใหม่ นักทำแผนที่ทั่วโลกต่างขวนขวายหาวิธีของตนเองเพื่อถ่ายทอดภาพของโลกให้ออกมาสมบูรณ์แบบและเป็นที่จดจำ
‘For the greater good’
การต่อสู้อย่างยาวนานของเหล่านักทำแผนที่หลายยุคคือการแก้ไขความบิดเบี้ยว (Distortion) ของสัดส่วนบนแผนที่ ซึ่งล้วนต้องก้มหน้ายอมรับความจริงว่าการจะนำเสนอรายละเอียดภาพจากพื้นผิวทรงกลมลงบนพื้นราบให้แม่นยำนั้นต้องแลกมาซึ่งการสูญเสียบางอย่างไป เช่น ทิศทาง ระยะทาง รูปร่าง และขนาดพื้นที่ เป็นการสละส่วนหนึ่งเพื่อคงส่วนอื่นไว้ ด้วยการลดทอน ตัดตอน ชนิดที่ต้องแยกมหาสมุทร บีบย่อแผ่นดิน จึงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมเส้นโครงแผนที่บางตัวถึงมีลักษณะเฉพาะจนต้องเอียงคอมอง
ออสวอลด์ วิงเคิล คือหนึ่งในนักทำแผนที่อีกหลายคนที่พยายามท้าทายขีดจำกัดชวนปวดหัวของแผนที่โลกด้วยการสร้างเส้นโครงแผนที่ที่รักษาสมดุลของอัตราส่วนต่าง ๆ โดยวิธีการ Compromise หรือ การประนีประนอมความผิดเพี้ยนให้น้อยที่สุดเท่าท่ี่จะเป็นไปได้ และในที่สุดผลงานแห่งความตั้งใจก็ได้เกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1921 'Winkel Tripel Projection' หรือ Winkel III ได้เผยโฉมครั้งแรกในหนังสือ Petermanns Geographische Mitteilungen ในรูปแบบเส้นโครงแผนที่ที่ไม่ได้มีคุณสมบัติคงรูปหรือคงพื้นที่ แต่เป็นเส้นโครงแผนที่ที่ลดความบิดเบี้ยว ผิดเพี้ยน และนำเสนอภาพรวมของโลกได้อย่างลงตัว
คำว่า Tripel ใน Tripel Winkel Projection มาจากภาษาเยอรมันที่มีความหมายเดียวกับ Triple ในภาษาอังกฤษที่แปลว่า ’สาม’ ซึ่งสื่อถึงส่วนสำคัญของแผนที่ คือ พื้นที่ ทิศ และระยะทาง ที่ลดความบิดเบี้ยวได้อย่างแนบเนียน โดยมีค่า Distortion เฉลี่ยน้อยมากเมื่อเทียบกับแผนที่ Compromise Projection ทั่วไปโดยก่อนหน้านี้วิงเคิลเคยทำแผนที่ลักษณะคล้ายกันมาแล้ว 2 เวอร์ชัน คือ Winkel I และ Winkel II ก่อนเป็น Winkel III ที่เริ่มจากการแปลง Azimuthal Projection ซึ่งมีคุณสมบัติคงทิศทางมาเป็นเส้นโครงตั้งต้น โดยใช้ค่าเฉลี่ยกลางของพิกัดจาก Aitoff และ Equidistant Cylindrical Projection ขีดเส้นขนานมาตรฐานที่ 50°28´เหนือและใต้ ปรากฏเส้นเมริเดียนปฐมและเส้นศูนย์สูตรเป็นเส้นตรง เส้นลองจิจูดเป็นเส้นโค้งแต่ไม่ขนานกัน
‘Not Perfect but Good Enough’
แผนที่ของวิงเคิลไม่ได้ถ่ายทอดจุดต่าง ๆ บนโลกได้อย่างสมบูรณ์แบบแต่ก็มีดีพอตัว เพราะแสดงภาพรวมของโลกได้อย่างเข้าใจง่าย นำเสนอสัดส่วนพื้นที่และรูปร่างส่วนใหญ่ได้เกือบสมจริง แม้จะปรากฏส่วนบิดเบี้ยวให้เห็นหลายจุด เช่น อเมริกาใต้ที่ดูแคบเกินจริง นอร์เวย์และไอซ์แลนด์ก็ดูใหญ่ไม่สมเหตุผลเมื่อเทียบกับส่วนอื่น ๆ หรือระยะและทิศทางที่ไม่ได้แม่นยำเท่าเมอร์เคเตอร์ แต่เมื่อเทียบกับเส้นโครงแผนที่ส่วนใหญ่ก็ถือว่าน่าชื่นชมในความพยายาม